ผลวิจัย CDC สหรัฐชี้วัคซีนเข็มบูสเตอร์กันป่วยหนักจากไวรัสโอมิครอนได้

ผลวิจัยชุดใหม่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์สามารถลดความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้

ทั้งนี้ ผลการวิจัยของ CDC ทั้งสามรายการเป็นผลวิจัยชุดแรก ๆ ที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการต้านไวรัสโอมิครอนในสหรัฐ และได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อยับยั้งอาการเจ็บป่วยขั้นรุนแรงจากไวรัสโอมิครอนที่กำลังระบาดอย่างหนักในสหรัฐ โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 99% เป็นสายพันธุ์นี้

ผลการวิจัยชุดใหม่ยังระบุว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์สามารถยับยั้งโอกาสเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะต้องรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน หรือโอกาสที่จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 ได้

นอกจากนี้ ผลการวิจัยฉบับหนึ่งยังได้เก็บข้อมูลในโรงพยาบาล 259 แห่ง และแผนกฉุกเฉิน 383 แห่งเมื่อช่วงปลายเดือนส.ค. 2564 จนถึงต้นเดือนม.ค. 2565 ซึ่งพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของไฟเซอร์-ไบออนเทคหรือโมเดอร์นานั้น สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือห้องฉุกเฉินได้ถึง 94% ในช่วงการระบาดของไวรัสเดลตา และ 82% ในช่วงที่ไวรัสโอมิครอนเริ่มระบาด โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นการศึกษากลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ซึ่งคณะผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ผลการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ในช่วงการระบาดของไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ได้

ผลวิจัยยังระบุว่า ในช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาพุ่งสูงขึ้น การฉีดวัคซีนสองโดสสามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารักษาตัวในแผนกฉุกเฉินได้ 86% อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงเหลือ 76% เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน แต่เมื่อได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ประสิทธิภาพในการป้องกันจะกลับมาอยู่ที่ 94%

ข้อมูลในผลวิจัยใหม่ยังพบว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับตอนนี้ ซึ่งไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐไปแล้ว เนื่องจากประสิทธิภาพของวัคซีนในการยับยั้งความเสี่ยงที่ต้องเข้ารักษาตัวในแผนกฉุกเฉินจากไวรัสโอมิครอนจะลดลงมาเหลือเพียง 38% เมื่อผ่านไป 6 เดือน ดังนั้น การฉีดเข็มบูสเตอร์จะเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันให้กลับมาอยู่ที่ 82%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 65)

Tags: , ,