นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัดนั้นจะคำนวณจากจำนวนวัคซีนหารด้วยจำนวนจังหวัด และหารด้วยจำนวนประชากรในจังหวัด แล้วมาเทียบกับปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ก็จะออกมาเป็นตัวเลขของวัคซีนในแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่มีจังหวัดไหนที่ได้เท่ากันแน่นอน แต่เป็นวิธีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม
หลังจากนั้นกรมควบคุมโรคจะเร่งกระจายวัคซีนลงพื้นที่ไปตามจำนวนที่คำนวณได้ และผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการจัดส่งเอง
“พื้นที่ไหนมีข้อสงสัยจากสังคม ต้องไปดูว่าไม่ใช่พื้นที่การระบาดหรือไม่ถึงได้รับวัคซีนในจำนวนเท่านั้น ซึ่งต้องสอบถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด”
นายอนุทิน กล่าว
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จัดสรรให้ประมาณ 2 ล้านโดส ก่อนกระจายไปยังจุดฉีดทั้งในและนอกสถานพยาบาล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดมาก
“พื้นที่ซึ่งระบาดมากก็ต้องเร่งแก้ไข อย่าง กทม.มีการระบาดที่ค่อนข้างสูง และเพื่อการป้องกันควบคุมโรคที่ดี จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้พื้นที่เสี่ยง หากแก้ปัญหาใน กทม.ได้ก็เสมือนว่าป้องกันจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยได้ เพราะเป็นศูนย์กลางที่ผู้คนทั่วประเทศมาทำมาหากินมา ใช้ชีวิตและสัญจร”
นายอนุทิน กล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนใช้งาน 2 ชนิดคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนซิโนแวก ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ประเทศไทยมีการทดสอบที่ จ.ภูเก็ต พบว่า วัคซีนซิโนแวกเมื่อฉีดครบ 2 เข็มแล้วประสิทธิภาพประสิทธิผลป้องกันการแพร่กระจาย ลดอาการหนัก และลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Sinovac, กทม., กรุงเทพมหานคร, ซิโนแวก, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, ศบค., อนุทิน ชาญวีรกูล, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19