นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงอีก 2 สัปดาห์จะใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลที่รวมญาติจากหลายที่เพื่อการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และพบปะสังสรรค์ และจะมีกิจกรรมหลายอย่างทั้งในวันจ่าย วันไหว้ และ วันเที่ยว ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมเสี่ยง ที่ต้องไปจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีผู้คนแออัด, การเดินทางไปร้านอาหาร เพื่อรับประทานอาหารและพบปะสังสรรค์กันในครอบครัว, การเดินทางไปศาสนสถาน หรือ ศาลเจ้า เพื่อไปไว้พระขอพรหรือการไหว้เจ้า ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัย โดยขอให้ประชาชนยึดปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อสร้างความความปลอดภัยในช่วงเทศกาล
ด้านนพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการป้องกันโควิด-19 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน สำหรับ “วันจ่าย”ว่า
- ควรวางแผนก่อนซื้อ หรือเลือกซื้อจากร้านค้าที่ให้บริการระบบออนไลน์
- เลือกจากแหล่งจำหน่าย หรือจากผู้ประกอบการที่เชื่อถือได้ เช่น เลือกซื้อกับตลาดที่ผ่านการประเมิน Thai Stop COVID 2 Plus
- เลือกซื้อวัตถุดิบที่สดใหม่หรือไม่มีตำหนิ
- หากต้องไปตลาดใช้เวลาให้สั้นที่สุด
- รักษาระยะห่างในการจับจ่าย หรือเลี่ยงจุดบริการที่มีคนแออัด
- เมื่อกลับถึงบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำทันที
หากมีอาการเจ็บป่วยไข้ ไอ จาม งดหรือเลี่ยงการจ่ายตลาดสำหรับ “วันไหว้”
- ล้างวัตถุดิบให้สะอาดและปรุงประกอบให้สุก
- จัดสถานที่ไหว้ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ในขณะทำกิจกรรมให้สวมหน้ากากป้องกัน
- ล้างมือทุกครั้งก่อน – หลังทำพิธี
- แยกภาชนะปักธูป เลี่ยงการปักธูปลงในอาหาร
- ลดการเผากระดาษไหว้
- อุ่นอาหารไหว้ หรือล้างทำความสะอาดอีกครั้งก่อนนำมารับประทาน
หากมีอาการเจ็บป่วยไข้ ไอ จาม งดหรือเลี่ยงร่วมกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ส่วน “วันเที่ยว”
- พกพาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือด้วยเสมอ
- เลือกใช้บริการจากสถานประกอบการ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีสัญลักษณ์ของ Thai Stop COVID 2 Plus หรือ SHA+
- รักษาระยะห่างระหว่างกันขณะใช้บริการ หรือควรเลี่ยงหากสถานที่มีผู้คนแออัด
- หากมีการใช้จ่ายเลือกใช้ระบบออนไลน์
- กลับถึงบ้านให้เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทันที
หากมีอาการเจ็บป่วยไข้ ไอ จาม งดหรือเลี่ยงการออกไปเที่ยว
สำหรับสถานที่จัดงานจะต้องมีมาตรการความปลอดภัย อาทิ ต้องมีการกำหนดทางเข้าออก จุดคัดกรองให้ชัดเจน ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ มีจุดบริการล้างมือ ควบคุมจำนวนผู้ร่วมงานไม่ให้แออัด จัดให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอ เป็นต้น
ด้านผู้จัดงาน และผู้ร่วมงาน ทุกคนต้องมีการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด ตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมงานและต้องมีการประเมิน Thai Save Thai (TST) สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา
นอกจากนี้นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการเปิดเรียน On-Site ปลอดภัยจากโควิด-19 ว่า สถานศึกษายึดมาตรการแซนด์บอกซ์ในโรงเรียน (Sandbox Safety zone in School) สำหรับโรงเรียน คือ 3T1V คือ
- โรงเรียนต้องประเมิน เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน
- นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ
- เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม ตรวจคัดกรอง ATK เมื่อมีความเสี่ยง หรือเมื่อมีอาการ
- ครู บุคลากร ผู้ปกครอง ฉีดวัคซีนตามเกณฑ์
นอกจากนี้ สถานศึกษาจะต้องปฎิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และ 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ปฎิบัติตามแผนเผชิญเหตุ เพื่อดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทการแพร่ระบาดในพื้นที่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 65)
Tags: กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข, นักเรียน, สราวุฒิ บุญสุข, สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย, อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์, เทศกาลตรุษจีน, โควิด-19, โรงเรียน