ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 65 นี้ จะอยู่ในช่วง 89.5-90.5% ต่อ GDP ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นต้นไป หลังการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเบาบางลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว
เนื่องจากในช่วงเข้าสู่ปี 65 เศรษฐกิจไทยกำลังกลับมาเผชิญความเสี่ยงจากโควิด-19 อีกครั้งหลังไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มแพร่ระบาดในประเทศมากขึ้น แม้ในเบื้องต้นจะมีข้อมูลว่าไวรัสดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบต่อร่างกายมากเท่ากับสายพันธุ์ก่อน ๆ แต่การแพร่ระบาดได้ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน นำไปสู่การชะลอการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจในหลายส่วนเช่นกัน
กลไกดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อรายได้ และสภาพคล่องของครัวเรือน ผลักดันให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องของครัวเรือนกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นได้อีกครั้ง
“ผลจากการที่ภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากภาระหนี้สูง จะทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีข้อจำกัด ทั้งจากงบประมาณการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่จะลดลงตามภาระการผ่อนชำระที่เพิ่มสูงขึ้น และการขอสินเชื่อใหม่ที่ยากมากขึ้น หลังภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อในระบบมีความเข้มงวดมากขึ้น ผลพวงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงดังกล่าว จะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจของไทยในยามที่การใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวม มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในระยะข้างหน้า” SCB EIC ระบุ
EIC มองว่า ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงของการซ่อมแซมงบดุล (deleverage) ยังถือว่าเป็นช่วงที่มีความเปราะบางสูง ดังนั้น จึงต้องอาศัยมาตรการหลายด้านประกอบกัน เพื่อให้สถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ยังไม่หายไป อันจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญต่อรายได้ ประกอบกับภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยยังมีความท้าทาย
ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงที่ความต้องการสภาพคล่องยังมีอยู่มาก นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการเยียวยาด้านรายได้โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนการจ้างงาน การปรับ-เพิ่มทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของภาคครัวเรือน การปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระการผ่อนชำระสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงและฟื้นช้า ไปจนถึงการเสริมสภาพคล่องแก่ภาคครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเพื่อลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ก่อตัวขึ้นมาแล้วและอาจทวีความรุนแรงขึ้นหากไม่มีความช่วยเหลือที่ตรงจุด
โดย EIC มองว่ากลุ่มมาตรการเหล่านี้ยังมีความจำเป็นอยู่มาก โดยจะต้องมีระยะเวลาการช่วยเหลือที่ยาวนานเพียงพอ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และการปรับตัวของภาคครัวเรือนทั้งการหารายได้เพิ่มเติม และการซ่อมแซมงบดุลก็จำเป็นต้องใช้เวลาเช่นกัน
“มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การเยียวยาด้านรายได้ การสนับสนุนการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ รวมถึงการสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบจะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคครัวเรือนไทยที่ยังมีความเปราะบางสูง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 65)
Tags: SCB EIC, ธนาคารไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, หนี้ครัวเรือน, เศรษฐกิจไทย