ตอนที่แล้วได้นำเสนอแนวทางการพิจารณาคุณลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีความไม่แน่ชัดว่ามีลักษณะการพิจารณาว่าเป็นรูปแบบเฉพาะสิ่งหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นกฎหมายสำหรับกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ได้กำหนดคุณลักษณะการส่งมอบ การโอน การยึดถือหรือส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับฝากและคืนสินทรัพย์ดิจิทัลไว้โดยเฉพาะ
กล่าวคือมาตรา 6 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลที่กำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่ต้องมีการส่งมอบ การโอน การยึดถือหรือส่งคืนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ให้ใช้คริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้”
จึงอาจตีความได้ว่า ในกรณีเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลส่งมอบหรือโอนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยึดถือไว้ เมื่อต้องมีการส่งคืนสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ สาระสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่การส่งคืนทรัพย์สินชิ้นที่เจ้าของส่งมอบมาให้ เพียงแต่จะต้องส่งคืนประเภทและชนิดเดียวกัน ในจำนวนเท่ากัน
เช่น หากมีการส่งมอบ Investment Token ชื่อ A จำนวน 10 Token (Token เลขที่ 1 ถึง 10) ไว้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยึดถือไว้ การส่งคืนก็ต้องส่ง Investment Token ชื่อ A จำนวน 10 Token คืน ไม่สามารถส่งมอบ Investment Token ชื่อ B จำนวน 10 Token หรือ Utility Token ชื่อ A จำนวน 10 Token แทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบทรัพย์สินชิ้นเดิมที่ส่งมอบมาคือ Token เลขที่ 1 ถึง 10 แต่อาจจะส่งคืนเป็น Token เลขที่ 11 ถึง 21 ก็ได้ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัล จึงไม่ใช่วัตถุแห่งหนี้ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ต้องมีอยู่และมีลักษณะแน่นอน และต้องมีการกำหนดหรือได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นทรัพย์ใดแน่นอน
ลักษณะดังกล่าวก็มีกฎหมายที่ใกล้เคียงกันกล่าวคือ มาตรา 672 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดไว้ว่า “ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก” แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวนอนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น”
จึงอาจกล่าวในเบื้องต้นได้ว่าลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยทั่วไปเมื่อมีการส่งมอบ การโอน การยึดถือหรือส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับฝากและคืนสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ ไม่จำต้องเป็นการโอนหรือมอบสินทรัพย์ดิจิทัลหน่วยนั้น ๆ ให้แก่เจ้าของหรือเจ้าหนี้เพียงแต่ต้องประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันก็ได้ ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเหมือนเงินตราหรือทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป แต่อย่างไรก็ตามคุณลักษณะดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีหรือคุณลักษณะทางเทคนิคของสินทรัพย์ดิจิทัลจึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา
และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 65)
Tags: Cryptocurrency, คริปโทเคอร์เรนซี, ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์, สินทรัพย์ดิจิทัล, โทเคนดิจิทัล