ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ครองตำแหน่งพาสปอร์ตทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

ผลการศึกษาล่าสุดจากการจัดอันดับ Henley Passport Index เผยญี่ปุ่นและสิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งในเรื่องความเป็นอิสระในการเดินทาง โดยผู้ถือพาสปอร์ตของญี่ปุ่นและสิงคโปร์สามารถเดินทางแบบไม่ต้องใช้วีซ่าได้ถึง 192 แห่ง หากไม่นำข้อจำกัดชั่วคราวอันเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 มาพิจารณา ส่วนพาสปอร์ตที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็นอันดับสอง ได้แก่ เยอรมนีและเกาหลีใต้ โดยเดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่าได้ 190 แห่ง ส่วนฟินแลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และสเปน ครองอันดับสามร่วม โดยเดินทางได้ 189 แห่ง

ขณะที่ หนังสือเดินทางสหรัฐและสหราชอาณาจักรมีอันดับดีขึ้น โดยขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 6 ทั้งคู่ หลังร่วงลงแตะอันดับ 8 ในปี 2563 ซึ่งนับเป็นอันดับที่ต่ำสุดสำหรับทั้งสองประเทศนี้ตลอด 17 ปีของการจัดอันดับ โดยสามารถเดินทางแบบไม่ต้องขอวีซ่า (visa-free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa-on-arrival) ได้ 186 แห่ง

จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมของ Henley Passport Index ซึ่งจัดอันดับหนังสือเดินทางทั่วโลกจากจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ร่วมกับข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA) พบว่า ในปี 2549 ผู้ถือหนังสือเดินทางสามารถเดินทางโดยเฉลี่ยแบบไม่ต้องใช้วีซ่าได้ 57 แห่ง แต่ปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 107 แห่ง แต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ได้บดบังความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศแถบโลกเหนือกับประเทศแถบโลกใต้ โดยประเทศแถบโลกเหนืออย่างสวีเดนและสหรัฐสามารถเดินทางแบบไม่ต้องใช้วีซ่าได้กว่า 180 แห่ง ขณะที่ผู้ถือหนังสือเดินทางจากแองโกลา แคเมอรูน และลาว กลับเดินทางได้ราว 50 แห่งเท่านั้น

ความเหลื่อมล้ำในการเดินทางทั่วโลกระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนปรากฏให้เห็นเด่นชัดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อหลาย ๆ ประเทศได้ใช้มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยจำกัดการเดินทางพุ่งเป้าไปที่ประเทศแถบแอฟริกา

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (U.N.) ได้เปรียบความเหลื่อมล้ำในครั้งนี้ว่าเหมือนกับการ “แบ่งแยกสีผิวในการเดินทาง” แม้ว่าระดับความเป็นอิสระในการเดินทางในภาพรวมนั้นเพิ่มขึ้นมากตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม

ขณะที่ Prof. Mehari Taddele Maru จากศูนย์นโยบายการอพยพ ได้ให้ความคิดเห็นว่า “ข้อจำกัดอันแสนแพงในการควบคุมการเดินทางทั่วโลกนั้นแสดงให้เห็นความไม่เสมอภาคและการแบ่งแยก โควิด-19 และผลกระทบในเรื่องความไม่มั่นคงและความไม่เสมอภาค ได้ชูให้เห็นความแตกต่างอันน่าตกใจและย่ำแย่ลงอีกในด้านการเดินทางระหว่างประเทศ เมื่อเทียบระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน”

ด้าน Dr. Christian H. Kaelin ประธาน Henley & Partners และผู้กำเนิดแนวคิดในการทำดัชนีหนังสือเดินทาง เผยว่า หนังสือเดินทางและวีซ่าเป็นเครื่องมือสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ที่กระทบต่อความไม่เสมอภาคทางสังคมทั่วโลก เพราะเป็นตัวกำหนดโอกาสในการเดินทางทั่วโลก แผ่นดินที่เกิดและเอกสารที่ต้องถือไม่ได้เป็นสิ่งที่มีผู้ตัดสินไปน้อยกว่าสีผิวของเรา ชาติร่ำรวยจำเป็นต้องส่งเสริมการย้ายถิ่นเข้า เพื่อช่วยจัดสรรและสร้างสมดุลระหว่างทรัพยากรมนุษย์และวัตถุทั่วโลก

ส่วน Misha Glenny นักข่าวระดับรางวัลและรองศาสตราจารย์ประจำสถาบัน Harriman Institute สังกัดมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวเกี่ยวกับผลกระทบที่โควิด-19 มีต่อแนวโน้มในการอพยพและการเดินทางในแง่ภูมิศาสตร์การเมืองว่า “การมีอยู่ของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนชี้ให้เห็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง หากสหรัฐ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ยอมแบ่งเงินและวัคซีนให้แอฟริกาตอนใต้มากกว่านี้ โอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ก็จะน้อยกว่านี้มาก และหากเราไม่แจกจ่ายวัคซีนให้เสมอภาคมากกว่านี้ ไวรัสก็จะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จนทำให้เราทุกคนถอยหลังสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง”

ขณะที่ Dr. Andreas Brauchlin ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและอายุรศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก และสมาชิก SIP Medical Family Office Advisory Board ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้แสดงความคิดเห็นสมทบในรายงานฉบับนี้ว่า “สุขภาพและสถานะการได้รับวัคซีนของบุคคลหนึ่งมีอิทธิพลต่อการเดินทางพอ ๆ กับอิทธิพลในการเข้าประเทศแบบไม่ใช้วีซ่าของหนังสือเดินทางที่ถืออยู่ การอยู่ ‘ผิด’ ประเทศอาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการเข้าถึงบริการทางธุรกิจ สุขภาพ และการแพทย์ และทำให้บางคนเดินทางไม่ได้”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 65)

Tags: , , ,