นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ณ จังหวัดหนองคาย เพื่อเตรียมแนวทางดำเนินงานรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน ระหว่างไทย-ลาว-จีน ให้เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ
โดยรถไฟลาว-จีน เชื่อมโยงจาก สปป.ลาว ไปถึงชายแดนจีนที่เมืองบ่อเต็น ซึ่งจะเชื่อมต่อเข้ากับทางรถไฟจีนไปจนถึงเมืองคุนหมิง ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นเส้นทางสำคัญในเชื่อมโยงและรองรับการขนส่งสินค้า และการเดินทางข้ามแดนระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน
การเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทยและลาวนั้น ฝ่ายไทยได้มีแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน ในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ให้มีความเหมาะสมได้เตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้า โดยสามารถจัดขบวนรถได้ถึง 14 ขบวนต่อวัน ขบวนละ 25 แคร่ แม้ว่าปัจจุบันการขนส่งสินค้าและการเดินทาง ยังมีปริมาณที่ไม่เต็มศักยภาพที่รองรับได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การขนส่งสินค้าปัจจุบันการจัดขบวนเป็นไปตามความต้องการการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการที่เป็นลักษณะของการขนส่งผ่านแดนเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้ง การเดินทางระหว่างประเทศยังคงดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
จากสถิติตัวเลขการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคายในช่วงเดือนธันวาคมปี 2563 กับช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 (ช่วงที่มีการเปิดการให้บริการรถไฟลาว-จีน) จะเห็นได้ว่ามีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.64 พันล้านบาท เป็น 6.91 พันล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ได้ร่วมบูรณาการแนวทางดำเนินงานรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน ระหว่างไทย-ลาว-จีน ให้เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ขร. ได้รับฟังข้อสังเกตที่อาจเป็นอุปสรรค พร้อมร่วมหารือให้ได้แนวทางในการดำเนินงานเพื่อขจัดข้อติดขัดในการขนส่ง ทั้งในด้านกฎระเบียบ แนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งในภาพรวม การส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อให้ใช้บริการขนส่งทางรถไฟร่วมกับการขนส่งทางรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อใช้สะพานหนองคายเดิม และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าในระยะเร่งด่วน
โดยจะพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม ซึ่งมีการเตรียมพื้นที่บริเวณสถานีประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากทางถนนสู่ระบบราง ซึ่งจะให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งนี้ รฟท. จะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณ ลานยกขนสินค้า โรยหินคลุกและบดอัดความหนา 10 เซนติเมตร รวมทั้ง จัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่อง Mobile X-ray Inspection System เพื่อตรวจปล่อยสินค้าและทำพิธีการศุลกากรต่อไป
พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่ย่านนาทาที่ รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต) ซึ่งได้ออกแบบรายละเอียดงานโยธา ในโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ช่วงกรุงเทพ หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) โดยได้ออกแบบย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้านาทาได้รวมอยู่ในช่วงดังกล่าว ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ซึ่งจะคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 65)
Tags: ขนส่งทางราง, พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์, รถไฟ, รถไฟไทย, รถไฟไทย-จีน, สถานีหนองคาย, เดินทางข้ามแดน