ACT จับตา 10 หน่วยงานภาครัฐพบจัดซื้อจัดจ้างผิดปกติ เสี่ยงทุจริตหลายโครงการ

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “จับตา อย่าให้ใครโกง…” ระบุว่า ว่า ข้อมูลจาก ACT Ai พบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกว่า 8 หมื่นโครงการใน 10 หน่วยงานที่ซุกซ่อนอยู่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่ส่อจะเกิดคอร์รัปชันมากที่สุด และยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยอ้างว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน

สำหรับ 10 อันดับหน่วยงานที่มีโครงการจัดซื้อน่าจับตามอง ประกอบด้วย

  1. กรมชลประทาน 6,197 โครงการ
  2. กรมการปกครอง 2,513 โครงการ
  3. กรุงเทพมหานคร 2,111 โครงการ
  4. กรมทางหลวงชนบท 1,966 โครงการ
  5. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1,503 โครงการ
  6. กรมทางหลวง 1,020 โครงการ
  7. การประปาส่วนภูมิภาค 993 โครงการ
  8. การประปานครหลวง 949 โครงการ
  9. กรมทรัพยากรน้ำ 828 โครงการ
  10. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 725 โครงการ

ทั้งนี้ ACT Ai รวบรวมข้อมูลจากระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง โดยในการตรวจจับความผิดปกตินั้นระบบจะแสดงเครื่องหมายแจ้งเตือนสีเหลือง เมื่อโครงการนั้นๆ ส่อให้เห็นความเสี่ยงที่ผิดปกติในการเสนอราคา ไม่ใช่การตัดสินว่าเกิดคอร์รัปชันแล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่น มีผู้ซื้อซองจำนวนมากแต่เข้าเสนอราคาน้อยราย, มีการเกาะกลุ่มเสนอราคาที่ใกล้เคียงกันหรือเท่ากัน, มีผู้ที่ชนะการประมูลเพียงรายเดียวที่เสนอราคาต่ำสุด, บริษัทที่ได้งานเสนอราคาเท่าราคากลางหรือต่ำกว่าเพียง 0-1% ขณะที่รายอื่นๆ เกาะกลุ่มเสนอสูงกว่าราคากลาง เป็นต้น

การประเมินดังกล่าว รวมถึงกรณีที่เรียกกันทั่วไปว่าฮั้วแตก และฟันราคาเพื่อให้ได้งานที่จะมีราคาประมูลต่ำผิดปกติ 20-70% กรณีเช่นนี้หน่วยงานอาจได้รับผลดีคือ จ่ายเงินน้อย ต้นทุนต่ำ หรืออาจเกิดผลเสียเพราะคู่สัญญาอาจส่งมอบงานไม่ได้ เนื่องจากราคาต่ำเกินจริงมาก

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมแวดล้อมอีกมากที่ต้องอาศัยการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เช่น มีการหมุนเวียนกันยื่นประมูลงานในหลายโครงการโดยผลัดกันเป็นผู้ยื่นราคาต่ำสุด (ผู้ชนะ) หรือราคาสูงกว่า (คู่เทียบ) ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้เอกสารเงินค้ำประกันซองจากแหล่งเดียวกันหรือใช้หลักทรัพย์เดียวกัน ผู้ยื่นประมูลหลายรายใช้ที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อที่เดียวกัน เป็นต้น

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมักเป็นไปตามแบบแผนซึ่งต้องมีคณะกรรมการ มีการอนุมัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่ความจริงแล้วการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนมีช่องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเจรจาวางแผนโกงได้ เช่น

1.ขั้นตอนเขียนโครงการของบประมาณ อาจมีการวิ่งเต้นให้อนุมัติโครงการหรืองบประมาณ แบ่งการจัดซื้อเป็นหลายโครงการให้วงเงินน้อยลง ใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ

2.ขั้นตอนเขียนทีโออาร์มีการล็อคสเปกหรือวางเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง

3.ขั้นตอนเปิดประมูลหรือจัดซื้อโดยวิธีอื่น มีการฮั้วประมูล สมยอมราคา แบ่งงานกันไว้ก่อน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กีดกันหรือเปิดเผยความลับแก่คู่แข่งขันบางราย

4.ขั้นตอนทำสัญญาและบริหารสัญญา มีการรับสินบน ช่วยเหลือเอกชน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มีการลักสเปก ลดเนื้องาน แก้แบบ เพิ่มเนื้องาน โยนภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างให้หน่วยงาน

5.ขั้นตอนรับมอบงาน ส่งงานไม่ได้คุณภาพหรือผิดเงื่อนไข ยกเว้นค่าปรับหรือปรับน้อยเกินจริง จ่ายเงินผิดเงื่อนไข เอกชนฉ้อโกงหน่วยงานแต่ไม่ถูกขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงาน เป็นต้น

โดยขั้นตอนการเขียนทีโออาร์และการประมูล ถือเป็นสองช่วงสำคัญที่มีการโกงอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นมากที่สุด ดังนั้น ACT จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.สร้างระบบปัญญาประดิษฐ์เช่นเดียวกับ ACT Ai ให้มีศักยภาพมากขึ้น ดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ธนาคาร กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจ ฯลฯ ทำงานเฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น

2.หน่วยงานรัฐต้องกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อฯ ที่จูงใจและเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าแข่งขันมากๆ เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานเอง

3.นอกจากหน่วยงานต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้ครบถ้วนแล้ว เอกชนทุกรายที่สมัครใจเข้าประมูลงานเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ต้องยินยอมให้รัฐเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เพื่อให้สาธารณชน สื่อมวลชนและผู้ประกอบการอื่นตรวจสอบความถูกต้อง

4.กำหนดมาตรฐานการบันทึกข้อมูลในระบบของกรมบัญชีกลางและหน่วยงานจัดซื้อ ให้มีรูปแบบไฟล์/เอกสารที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปศึกษา-วิเคราะห์ได้ง่ายโดยหน่วยตรวจสอบ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.),สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)) และผู้สนใจ

5.หัวหน้าหน่วยงานรัฐต้องทำการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างครบวงจร และวางมาตรการป้องกันความเสี่ยงอย่างจริงจัง รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ACT Ai เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน มีข้อมูลการจัดซื้อฯ ตั้งแต่ปี 2558-2564 รวมทั้งหมด 22,182,987 โครงการ ในจำนวนนี้พบโครงการที่ใช้ e-bidding และมีเครื่องหมายแจ้งเตือนว่าเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทั้งสิ้น 80,866 โครงการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 65)

Tags: , , ,