รมว.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์เร่งแก้ปัญหาเนื้อหมูแพง-โรคระบาดด่วน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 65 ได้สั่งการไปยังกรมปศุสัตว์วางแผนด่วน เรื่องการแก้ไขปัญหาปริมาณสุกรที่ลดลง ทำให้ส่งผลถึงราคาจำหน่ายเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น โดยต้องแก้ปัญหาครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ อาหารสัตว์ ยารักษาโรค รวมไปถึงการพบโรคระบาดในสุกร อีกทั้งก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย และผู้เลี้ยงสุกรรายกลางเกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวโรคระบาดในสุกร จึงเร่งขายสุกรมีชีวิตออกจากฟาร์มจำนวนมาก จึงทำให้ส่งผลกระทบไปยังปลายน้ำอย่างผู้บริโภคที่ยังคงมีความต้องการสูง

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ตอบรับคำสั่ง พร้อมเตรียมแก้ไขปัญหา ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วนต่อไป

ด้านนายแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์จัดเตรียมมาตรการ 3 ระยะเพื่อแก้ไขปัญหา คือ

1. มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อสุกรภายในประเทศให้มากขึ้น การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น

ในขณะเดียวกัน พร้อมเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการสรร และกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็ก ที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่กำหนดโซนเลี้ยง และออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค

2. มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกรสนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน การศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

3. มาตรการระยะยาว ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชอื่น แล้วส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้า หรือส่งเสริมการผลิตข้าวโพดในฤดูแล้งให้มากขึ้น การยกระดับมาตรการปรับปรุงระบบ Biosecurity ในการเลี้ยงสุกรให้เป็น GAP หรือ GFM ซึ่งจะป้องกันโรคได้ดีขึ้น ใช้ยุทธศาสตร์การควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสุกรไปต่างประเทศ ใช้ระบบการติดตามการเคลื่อนย้ายสุกร Tracking Smart Logistics พร้อมทั้งศึกษาและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ได้สุกรพันธุ์ดีและทนทานต่อโรคระบาด ศึกษาและพัฒนาการลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรทั้งวงจรโดยกรมปศุสัตว์จะเร่งหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นโดยเร็วต่อไป

ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มเกษตรกร เพื่อหาแนวทางมาตรการเพิ่มกำลังผลิตสุกรขุน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ส่งผลเนื้อสุกรราคาสูง ที่ลิ้มไพบูลย์ฟาร์ม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี พร้อมกล่าวว่า ภายหลังมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ผ่อนคลาย ผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการเลี้ยงสุกรลดลง จากปัญหาปริมาณหมูในปี 64 ลดลงจากปี 63 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัวเหลือ 19 ล้านตัว โดยส่งออก 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว จึงทำให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด จะส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ซึ่งค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อไม่ให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงซึ่งมั่นใจว่า มาตรการสนับสนุนต่างๆ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 65)

Tags: , , ,