นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2565 โดยระบุว่า ที่ประชุม กกร. ได้พิจารณาประเด็นสำคัญเรื่องสุกร โดยหารือร่วมกับกรมปศุสัตว์ที่เป็นหน่วยงานดูแลการผลิตสุกรป้อนเข้าสู่ตลาด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงสุกรป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว คาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีสุกรหายไปจากระบบ เหลือประมาณ 13 ล้านตัว จาก 19 ล้านตัว ซึ่งบริโภคในประเทศประมาณ 18 ล้านตัว ทำให้ขาดสุกรประมาณ 5 ล้านตัวสำหรับการบริโภค
โดยที่ประชุมฯ ได้พิจารณาห้ามส่งออกสุกรมีชีวิต เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 65 ถึง 5 เม.ย. 65 เป็นการชั่วคราว และจะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด คาดว่าจะช่วยให้มีหมูเป็นกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กกร. ได้สั่งการให้ผู้เลี้ยงสุกรที่มีปริมาณการเลี้ยงเกิน 500 ตัว ผู้ค้าส่งที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว ห้องเย็นที่มีการเก็บสต็อกเกิน 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องแจ้งสต็อกให้กรมการค้าภายในรับทราบ รวมทั้งแจ้งราคาในทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 65 เป็นต้นไป เพื่อให้ทราบปริมาณหมูเป็นทั้งหมดที่อยู่ในระบบ รวมทั้งหมูแช่แข็ง-แช่เย็น รวมกันทั้งประเทศ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันกับกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยกรมการค้าภายในจะทำงานร่วมกันกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในการจำหน่ายเนื้อหมูได้กำหนดให้มีการติดป้ายราคาให้ชัดเจน และห้ามขายเกินราคาป้ายที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฏหมาย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พาณิชย์จังหวัด และกรมการค้าภายใน รวมทั้งปศุสัตว์ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งการขายเกินราคา การเข้าข่ายค้ากำไรเกินควร
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติเพิ่มเติมให้กรมปศุสัตว์ ในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องโดยตรง ผลิตสุกรเข้าสู่ระบบ เร่งดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเพิ่มเติม เพื่อให้สุกรมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศโดยเร็วที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 65)
Tags: กกร., กรมปศุสัตว์, กระทรวงพาณิชย์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ส่งออก, สุกร