นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ รฟม.เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการแพร่ระบาดในที่พักแรงงานก่อสร้างเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น
รฟม. ได้กำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว- สำโรง ได้ตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม
โดย รฟม. ได้เน้นย้ำให้ที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในที่พักแรงงานก่อสร้างและพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานทุกครั้ง
2. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการปฏิบัติงาน
3. จัดจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ และอ่างล้างมือ
4. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พัก
5. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกเส้นทาง ขณะโดยสารรถรับส่งระหว่างที่พักและพื้นที่ปฏิบัติงาน และจัดเว้นระยะห่างของที่นั่งในรถไม่ให้แออัด
6. ห้ามแรงงานก่อสร้าง พาบุคคลภายนอก เข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พักโดยเด็ดขาด
7. ห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงตามที่ภาครัฐกำหนด
8. จัดการเรื่องสุขอนามัยภายในที่พัก ให้สะอาด ปราศจากการแพร่เชื้ออยู่เสมอ เช่น ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณ ที่พัก เปลี่ยนระบบอาบน้ำ จากเดิมที่ใช้อ่างอาบน้ำรวม เป็นระบบฝักบัว แยกเฉพาะคน และจัดให้มีการแยกภาชนะ ในการรับประทานอาหาร เช่น แก้วน้ำ ช้อนส่วนตัว
9. กรณีที่พักแรงงานก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ปฏิบัติงาน หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการเข้า-ออก ก่อนทำการส่งตัวไปรักษา
10. กรณีที่พักแรงงานก่อสร้างไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ปฏิบัติงาน หากพบผู้ติดเชื้อให้กักตัวผู้ที่ติดเชื้อในบริเวณที่พักแรงงาน ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย ก่อนทำการส่งตัวไปรักษา ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ เมื่อเดินทางไปปฏิบัติงาน รถโดยสารรับส่ง จะไม่จอดหรือหยุดพักระหว่างทาง
11. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ จะดำเนินการเฝ้าระวังและจัดที่พักแยกเป็นสัดส่วนเพื่อกักตัว
12. จัด Safety Talk พูดคุยก่อนการเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
13. ให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ และเสียงตามสาย
นอกจากนี้ ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอาคารสำนักงานโครงการฯ ด้วยการตรวจคัดกรองอุณหภูมิ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง จัดประชุมด้วยระบบ Video Conference แทนการนั่งประชุมรวมกลุ่มในอาคารสำนักงานโครงการฯ และให้ผู้ปฏิบัติงานในอาคารสำนักงานโครงการฯ ปฏิบัติงานในที่พักอาศัย (Work From Home) ให้มากที่สุด โดยหมุนเวียนสลับกันเข้ามาปฏิบัติงาน รวมถึงเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณจุดที่สัมผัสร่วมกันในอาคารสำนักงานโครงการฯ เช่น บานจับประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได เครื่องลงเวลาเข้าออกงาน และห้องน้ำ
ทั้งนี้ รฟม. และทุกโครงการฯ จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องโควิด-19 อย่างเต็มที่ ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกของกลุ่มแรงงานในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และจะเดินหน้ากำชับมาตรการต่างๆ ให้มีความเข้มข้นและรัดกุม เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการแสดงความรับผิดชอบ ต่อสังคมส่วนรวม จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลับสู่ภาวะปกติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, กิตติกร ตันเปาว์, มาตรการป้องกันโรคโควิด-19, รถไฟฟ้า, รฟม., แคมป์คนงานก่อสร้าง, โควิด-19