นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสวมหน้ากากเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด 19 ได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์โอมิครอน เพราะเชื้อจะสามารถติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย มีส่วนน้อยที่ติดต่อผ่านทางอากาศ ดังนั้นการสวมหน้ากากแต่ละประเภทจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น ผู้ที่ทำงานในหอผู้ป่วยโควิดต้องใช้หน้ากาก N95 ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่มีความเสี่ยงในการพบผู้ป่วยใช้หน้ากากทางการแพทย์หรือหน้ากากอนามัย สำหรับประชาชนหากใส่หน้ากากในสถานที่ทั่วไป สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ แต่ต้องเลือกเป็นแบบผ้าฝ้ายมัสลิน 2 ชั้น เนื่องจากเส้นใยผ้าฝ้ายมัสลินมีประสิทธิภาพในการกันละอองน้ำได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับผ้าชนิดอื่นๆ และนำกลับมาใช้ได้หลายครั้ง ควรซักหน้ากากผ้าให้สะอาดและตากแห้งทุกวัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากขณะสวมใส่ จึงจะปลอดภัยและป้องกัน การติดเชื้อได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า หากทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลา จะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และไม่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง สถานที่อับหรืออากาศไม่ถ่ายเท เชื้อมีความเข้มข้นในอากาศสูง หรือสถานที่ที่มีคนหนาแน่นแออัด ทั้งนี้ หากประชาชนไปในแหล่งชุมชน มีคนพลุกพล่านควรสวมหน้ากากผ้าไว้ด้านนอกและหน้ากากอนามัยคุณภาพดีที่มี 2 ชั้นคือ มีชั้นกรองและชั้นปิดไว้ด้านใน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสามารถป้องกันเชื้อได้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญต้องสวมหน้ากากให้ถูกวิธี โดยสวมแนบชิดกับใบหน้าครอบปากและจมูก ไม่ควรใส่ไว้ใต้คาง เพราะการสวมหน้ากากที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ธ.ค. 64)
Tags: กรมควบคุมโรค, หน้ากากผ้า, หน้ากากอนามัย, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์