นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กล่างว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ภาครัฐเป็นผู้ปลูกและผลิตยากัญชา ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนสามารถมีความร่วมมือกับภาครัฐในการปลูกได้ เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษได้ปลดส่วนของลำต้น กิ่งก้าน ใบ และรากกัญชาออกจากรายการยาเสพติดแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการขับเคลื่อนให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ
จากการวิเคราะห์ช่องว่างในการดำเนินงาน พบว่า ส่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนคือ กลางทาง หรือการแปรรูปวัตถุดิบกัญชาให้เป็นยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดังนั้นจึงได้หารือร่วมกับกองกฏหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าต้องมีการจัดทำระเบียบและหลักเกณฑ์ให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยาสมุนไพร และได้มาตรฐานการผลิต GMP ประมาณ 50 แห่ง ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันมีหลายแห่งที่มีความร่วมมือกับเกษตรกรในการปลูกกัญชาร่วมกัน
นพ.กิตติ กล่าวว่า การจัดทำระเบียบนี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรมีผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง รวมทั้งทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถส่งต่อวัตถุดิบกัญชาเพื่อสกัดและผลิตระหว่างกันได้ เช่น มหาวิทยาลัย สามารถส่งต่อวัตถุดิบให้โรงพยาบาลผลิตต่อในบางขั้นตอนได้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ และสุดท้ายเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรที่จะมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง หรือมีรายได้ที่ยั่งยืนจากการปลูกกัญชา
อย่างไรก็ตาม คงต้องมีกลไกการดำเนินงานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งสถาบันกัญชาทางการแพทย์จะร่วมกับภาคีเครือข่ายในการทำงาน เพื่อสร้างอุปสงค์หรือความต้องการทางการตลาดของผลิตภัณฑ์กัญชาให้มีความยั่งยืน ตั้งแต่การศึกษาความต้องการตลาดของผลิตภัณฑ์จากกัญชาทั้งยา และไม่ใช่ยา การศึกษาวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของตลาด และการเสริมสร้างทักษะในการปลูก และการแปรรูปขั้นต้นให้กับเกษตรกร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 64)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, กัญชา, กิตติ โล่สุวรรณรักษ์, คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ, พืชเศรษฐกิจ, ภาครัฐ, วิสาหกิจชุมชน, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา