หนึ่งในหุ้นน้องใหม่ที่มีกระแสการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ลงทุน สำหรับหุ้นของ บมจ.โนวา ออร์แกนิค (NV) ภายหลังจากเปิดจองซื้อหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 150 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 6.90 บาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท คิดเป็น P/E ที่ 11.07 เท่า เมื่อวันที่ 15-17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยอดจองสะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อปัจจัยการเติบโตที่แข็งแกร่งของบริษัทในระยะยาว พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน NV เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ผู้ลงทุนมีความสนใจและให้การตอบรับหุ้น NV เป็นอย่างดี ประกอบกับราคาหุ้น IPO ที่ราคา 6.90 บาท ถือเป็นราคาที่มีความเหมาะสมและมีส่วนลดในระดับที่ดีมากสะท้อนได้จากยอดจองหุ้นที่มีเข้ามาอย่างล้นหลามตั้งแต่วันแรกที่เปิดทำการจองซื้อ คาดว่าหลังเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หุ้น NV ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากนักลงทุน เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและ มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต
*NV กว่าจะเป็นผู้นำวงการเสริมอาหารลูกค้าในมือกว่า 1 ล้านราย
นายนวพล จันทร์จุฑามาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NV เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ธุรกิจของ NV เริ่มต้นจากการตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปี 56 ภายใต้สินค้าแบรนด์ “Donutt” เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงวัยรุ่นถึงวัยทำงานที่ต้องการดูแลรูปร่าง โดยดำเนินการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด จากนั้นปี 60 จึงขยายตลาดไปยังลูกค้ากลุ่มอื่นด้วยการออกสินค้าภายใต้แบรนด์ “Livenest” เจาะกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดเช่นกัน หลังจากเริ่มวางจำหน่ายพบว่ามีกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า และยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ต่อมาในปี 61 ได้เริ่มเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านโทรศัพท์ (Telesales) เพื่อการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า และนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาระบบ Customer Relationship Management (CRM) เฉพาะตัวและเหมาะสมกับองค์กร ทำให้บริษัทสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีมากขึ้น โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทปัจจุบันแบ่งเป็น ช่องทางจำหน่ายผ่านโทรศัพท์ (Telesales) 70% และช่องทางอื่น ๆ อย่างโมเดิร์นเทรด หรือ โฮมชอปปิ้งอีก 30%
“ช่องทางจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดมีข้อจำกัดคือเราไม่ได้ทราบข้อมูลของลูกค้าเลย เราจึงคิดว่าถ้าจะออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการลูกค้าเราต้องรู้ข้อมูลตรงนี้ พอในปี 61 จึงตัดสินใจเริ่มทำ Telesales จนจบปี 62 เรามีข้อมูลลูกค้าอยู่ประมาณ 2 แสนราย และ ปี 63 เราก็ตัดสินใจมุ่งไป Telesales โดยตั้งเป้ายอดขายทั้งปีที่ 1 พันล้านบาท เราเดินหน้าเพิ่มทั้งคู่สาย กำลังผลิต และคลังสินค้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราก็ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทำให้สิ้นปี 63 ยอดขายเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทะลุเป้าที่ 2.3 พันล้านบาท และเรายังมีฐานข้อมูลลูกค้าในมือมากกว่า 1 ล้านราย” นายนวพล กล่าว
*เกาะกระแสเติบโตบนเมกะเทรนด์โลก
นายนวพล กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังคงเป็นสินค้าเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งเทรนด์สังคมผู้สูงอายุที่ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็น 20% จากประชากรทั้งหมด และในอนาคตอีก 4-5 ปี จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้สินค้าอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุมีความต้องการค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากสินค้าแบรนด์ Livenest คิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมด
ประกอบกับ หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้บริโภคก็หันมาสนใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำว่าตลาดของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก ทั้งนี้ บริษัทได้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้าแบ่งผลิตภัณฑ์ออกได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
- กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้าโดนัทท์ (DONUTT) เช่น โดนัทท์คอลลาเจน โดนัทท์ไฟบิลี่
- กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้าลีฟเนส (LIVNEST) ส่วนผสมหลักจากวัตถุดิบถั่งเช่า
- กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หลินจือพลัส ชิตาเกะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มัทซึทาเกะ และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมภายใต้เครื่องหมายการค้า คิว-ติน (Q-Tin) เป็นต้น
นอกจากนี้ NV ยังดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (OEM) นับตั้งแต่การให้คำปรึกษาและการบริการแบบครบวงจร อีกด้วย
“นอกจากจุดแข็งของการเป็นผู้นำธุรกิจอาหารเสริมแบบครบวงจร ทั้งการเป็นผู้ผลิตสินค้า มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองและมีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าที่มีศักยภาพ กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของเรา ยังเน้นไปที่เรื่องคุณภาพของสินค้ามากที่สุด เพราะเมื่อสินค้ามีคุณภาพ ลูกค้าจะเกิดการแชร์ประสบการณ์และบอกต่อกัน ทำให้เรามีฟีดแบคที่ดีกลับมา” นายนวพล กล่าว
*ระดมทุนต่อยอดโรงสกัดสมุนไพร หนุนผลงานปี 65
แผนการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ บริษัทมีวัตถุประสงค์จะนำเงินไปลงทุนก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าแห่งใหม่ รองรับการจัดเก็บสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการสร้างโรงสกัดสมุนไพรและโรงงานผลิตสมุนไพร คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตช่วงต้นมี.ค. นอกจากนี้จะใช้เงินลงทุนเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย Telesales ให้เป็น 500 คู่สายในปี 65 จากปัจจุบันที่มีกว่า 250 คู่สาย
“นอกเหนือจากเงินที่เราจะได้จากการเข้าระดมทุนในครั้งนี้ เราอยากเปิดโอกาสในการมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถมาต่อยอดกับธุรกิจของเราได้ เพราะจุดสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อยู่ที่คุณภาพของสินค้า ดังนั้นเราจึงต้องการสารสกัดที่ดี ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้ชนะทั้งตลาดในไทยและตลาดโลก” นายนวพลกล่าว
ส่วนปี 65 บริษัทมั่นใจว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ตามแผนการวางจำหน่ายสินค้าใหม่ประมาณ 4-5 รายการ ซึ่งทางบริษัทจะมีกลยุทธ์ทดสอบสินค้าใหม่ ด้วยการส่งเป็นสินค้าของแถมให้กับลูกค้า และจะนำฟีดแบคที่ได้มาประเมินการวางแผนออกสินค้าใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังจะมุ่งเน้นความสำคัญกับช่องทางจำหน่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่าง Telesales, โมเดิร์นเทรด หรือ โฮมชอปปิ้ง
พร้อมเดินหน้าขอใบอนุญาตและก่อสร้างโรงสกัดสมุนไพรและโรงงานผลิตสมุนไพร เบื้องต้นวางแผนบุกตลาดในประเทศ ด้วยการนำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรวางจำหน่ายผ่านช่องทางร้านขายยา และในอนาคตมองถึงการส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลก
“เราอยากทำสินค้าสมุนไพรให้แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นในตลาด เราจึงเดินหน้าสร้างโรงสกัดสมุนไพรและโรงงานผลิตสมุนไพรเอง สำหรับวัตถุดิบเราก็มี Contact Farming กับฟาร์มที่เป็นระบบออแกนิค ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้สินค้าเราตีตลาดในประเทศได้สำเร็จ และต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ อย่างตอนนี้ NV ก็วางจำหน่ายสินค้ารายการหนึ่งแล้วในร้านวัตสันที่ฮ่องกง ซึ่งก็มีฟีดแบคที่ดี และหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จีนกลับมาเปิดประเทศ เราก็จะนำสินค้าตัวนี้ไปบุกตลาดจีนต่อไป” นายนวพล กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 64)
Tags: NV, นวพล จันทร์จุฑามาศ, หุ้นไทย, เอกจักร บัวหภักดี, โนวา ออร์แกนิค