น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการใช้เงินกู้ ภายใต้พ..ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรอบวงเงินรวม 35,967 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการหลัก ดังนี้
1. โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประจำปี 2565 รวม 90 ล้านโดส กรอบวงเงิน 35,060 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 30 ล้านโดส และ 2) วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 60 ล้านโดส
2. โครงการเยียวยาผู้ประกันตน ในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ กรอบวงเงิน 607.15 ล้านบาท ดำเนินการโดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
โดยสำนักงานประกันสังคม จะเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในอัตรารายละ 5,000 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายโครงการทั้งสิ้น 121,431 คน แบ่งเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 10,762 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวน 110,669 คน รวมวงเงิน 607 ล้านบาท
3. โครงการ Thailand Festival Experience กรอบวงเงิน 300 ล้านบาท ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 200,000 คนต่อครั้ง และสร้างรายได้สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการไม่น้อยกว่า 2,347 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่
3.1 โครงการ Amazing Sports & Extreme Month กรอบวงเงิน 100 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการจัดแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ รวม 10 ครั้ง อาทิ การแข่งขันจักรยานทางไกล การแข่งขัน Surf Skate Surf Kite Surfboard and Extreme Sports การแข่งขันไตรกีฬา การแข่งขันวิ่ง City Run และเทศกาลว่าวนานาชาติ โดยจะจัดกิจกรรมในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี ชลบุรีสงขลา และเพชรบุรี
โดยโครงการนี้ จะก่อให้เกิดการจ้างงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 6.2 แสนอัตรา และเกิดกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคบริการกว่า 550 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5.65 หมื่นคน (ชาวต่างชาติ 6,500 คน และชาวไทย 50,000 คน)
3.2 โครงการ Dazzling of the Andaman กรอบวงเงิน 100 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 10,000 ราย และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีรูปแบบกิจกรรม คือ 1) จัดกิจกรรมถ่ายทอดวัฒนธรรมเมืองภูเก็ตผ่านแสงสีและสื่อผสม 2) จัดเทศกาลประดับไฟ ณ แหลมพรหมเทพ 3) จัดกิจกรรมแสดงผลงานทางศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกระบี่และพังงา และ 4) การจัดแสดงพลุ ณ แหลมพรหมเทพ ซึ่งโครงการนี้จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและภาคบริการกว่า 1,300 ล้านบาท
3.3 โครงการ Music Festival & Rhythm in Memory กรอบวงเงิน 100 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 10,000 คน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีรูปแบบกิจกรรม คือ 1) จัดมหกรรมดนตรีที่รับชมบนเรือสำราญ 2) จัดแสดงดนตรี Beach Music Festival ภูเก็ต (หาดป่าตอง หาดกะตะ หาดกะรน และเกาะนาคา) และ 3) การออกร้านของผู้ประกอบการ Start Up SME และวิสาหกิจชุมชน
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ คือ เกิดการกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการกว่า 497 ล้านบาท คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 8,500 คน และมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 30,000 คนต่อครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 64)
Tags: lifestyle, กระตุ้นท่องเที่ยว, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, รัชดา ธนาดิเรก, วัคซีนต้านโควิด-19, สถานบันเทิง, เยียวยาโควิด