รัฐบาลเผยแอพพลิเคชัน ทางรัฐ เข้าระยะที่ 2 ขยายขอบเขตให้บริการครอบคลุมยิ่งขึ้น

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แอพพลิเคชันทางรัฐ ได้ดำเนินการภายใต้ แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) ขณะนี้อยู่ใน “ระยะที่ 2 หรือ ระยะเติมเต็ม” คือ การขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นกว่าในระยะที่ 1 โดยจากด้าน “สิทธิและสวัสดิการ”จะขยายออกไปให้ครอบคลุมถึงด้าน “งานบริการยอดนิยม” อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีรถยนต์ การขอป้ายทะเบียน และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร

แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมการให้บริการของภาครัฐที่สำคัญไว้เป็นแหล่งเดียวผ่านสมาร์ทโฟน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ครอบคลุมการค้นหาข้อมูลและรับบริการภาครัฐ การยื่นคำขอ จองคิว ตรวจสอบสิทธิ ร้องเรียน ชำระเงิน ตลอดจนบริการข้อมูลและคำปรึกษา โดยปัจจุบันครอบคลุมการให้บริการกว่า 45 รายการแล้ว เช่น การตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลเครดิตบูโร สิทธิหลักประกันสุขภาพ และบริการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ

ทั้งนี้ แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชนระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะเริ่มต้น (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564) การให้บริการจะครอบคลุมเกี่ยวกับ “สิทธิและสวัสดิการ” เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด สิทธิประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ลงทะเบียนทาบัตรประจาตัวคนพิการ เงินเบี้ยความพิการ
  2. ระยะเติมเต็ม (ปีงบประมาณ พ.ศ.2565) การให้บริการจะขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมถึงเรื่อง “งานบริการยอดนิยม” รวมทั้งสิ้น 60 บริการ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีรถยนต์ ขอป้ายทะเบียนรถ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร
  3. ระยะต่อยอด (ปีงบประมาณ พ.ศ.2566) การให้บริการจะขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้นอีก ครอบคลุมถึงเรื่อง “งานบริการเฉพาะทาง” ได้แก่ การเงินและภาษี การเดินทาง ความมั่นคงปลอดภัย ที่อยู่อาศัยและที่ดิน การทำงาน การเกษตร การศึกษา สิทธิพลเมือง ทะเบียนราษฎร สิ่งแวดล้อม สิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิ้น 60 รายการ เช่น การแจ้งเกิด ข้อมูลทางด่วนแก้หนี้ การขอเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเกษตร การหางานสำหรับคนพิการ การจองเลขทะเบียนรถยนต์ และการขอความช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นดังกล่าว และเน้นย้ำถึงการรับฟังเสียงของประชาชนในการรับบริการภาครัฐประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการขาดการบูรณาทางข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ การต้องเตรียมหรือรวบรวมเอกสารจำนวนมาก และการไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือสวัสดิการที่ตนเองพึงได้รับ และเพื่อเป็นการพัฒนาการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อยู่ระหว่างการจัดทำและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง)แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. 2566-2570 จะครอบคลุม 6 ด้าน ประกอบด้วย การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ การเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้โดยประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อวางแผนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการและประโยชน์ของประชาชนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 64)

Tags: , ,