สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานการพบหลักฐานครั้งใหม่ที่บ่งชี้ว่า สายลับของจีนได้ใช้เทคโนโลยีของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่เพื่อแฮกข้อมูลลับด้านการสื่อสารของออสเตรเลีย
รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของออสเตรเลียได้แจ้งให้หน่วยข่าวของสหรัฐทราบในปี 2555 ว่า ออสเตรเลียได้ตรวจพบการใช้เทคโนโลยีที่สามารถบุกรุกเข้าไปในระบบการสื่อสารของออสเตรเลีย โดยในเบื้องต้นตรวจพบการอัปเดตซอฟต์แวร์จากหัวเว่ยที่ถูกดาวน์โหลดด้วยรหัสที่น่าสงสัยและน่าจะมีเจตนาร้าย
การบุกรุกเพื่อแฮกข้อมูลข่าวกรองและนำไปแชร์ต่อนั้น ได้รับการยืนยันโดยอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของออสเตรเลียกว่า 20 คนซึ่งได้รับข้อมูลดังกล่าวจากทั้งหน่วยงานของออสเตรเลียและสหรัฐระหว่างปี 2555 – 2562 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ออสเตรเลียและสหรัฐตั้งข้อสงสัยว่า จีนได้ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเป็นช่องทางในการจารกรรมข้อมูล แต่ก็ไม่เคยมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการบุกรุกดังกล่าว
รายงานข่าวได้ช่วยคลายความสงสัยว่าเพราะเหตุใดบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งจึงช่วงชิงการเป็นผู้นำในการสร้างโครงข่าย 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับประชาชนทั่วโลก ขณะที่ข้อมูลระบุว่า บริษัทหัวเว่ยครองมูลค่าตลาดอุปกรณ์ด้านการสื่อสารทั่วโลกเป็นวงเงินสูงกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์ และพยายามแข่งขันกับบริษัทอีริกสันของสวีเดน และบริษัทโนเกียของฟินแลนด์
อย่างไรก็ดี สหรัฐ, ออสเตรเลีย, สวีเดน และสหราชอาณาจักรต่างก็พากันแบนหัวเว่ยไม่ให้มีส่วนร่วมในโครงข่าย 5G ขณะที่กว่า 60 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามในโครงการของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐโดยให้คำมั่นว่าจะหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ของจีนในระบบการสื่อสารของประเทศ ซึ่งความพยายามดังกล่าวซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อหัวเว่ยนั้น ส่งผลให้การเติบโตของหัวเว่ยชะลอลง และทำให้ความสัมพันธ์กับจีนมีความตึงเครียดมากขึ้น
ไมค์ โรเจอร์ส อดีตสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐสังกัดพรรครีพับลิกันซึ่งเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในช่วงปี 2554-2558 ได้ยืนยันว่า การที่สหรัฐแบนหัวเว่ยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลักฐานที่ถูกส่งให้บรรดาผู้นำทั่วโลกทราบเป็นการส่วนตัวว่า จีนพยายามใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยเป็นเครื่องมือจารกรรมข้อมูลผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์ หรือที่เรียกว่า Patchs ซึ่งหมายถึงซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อซ่อมแซมหรือแก้ไขจุดบกพร่องของซอฟต์แวร์เวอร์ชันเดิม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 64)
Tags: จีน, บลูมเบิร์ก, หัวเว่ย, ออสเตรเลีย