สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุน stressed bond ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้คืน เช่น ตราสารหนี้ที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ ตราสารหนี้ที่มีการเลื่อนกำหนดชำระหนี้คืน ตราสารหนี้ที่ผู้ออกอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ถือตราสารดังกล่าว และเพื่อรองรับตราสารหนี้ที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ที่แปรสภาพมาจากตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond) ของกองทุน high yield bond ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษผ่านกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยมืออาชีพ
กองทุน stressed bond เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือ กองทุนรวม UI ที่ลงทุนใน stressed bond ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชี โดยสัดส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในตราสารหรือธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท และเสนอขายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างน้อย 10 ราย (กองทุนรวมทั่วไปต้องมีผู้ถือหน่วยอย่างน้อย 35 รายขึ้นไป) โดย ก.ล.ต. จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจดทะเบียน
นอกจากนี้กองทุนดังกล่าวต้องเปิดเผยข้อมูลอายุกองทุนไว้ในโครงการอย่างชัดเจน และไม่เปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไถ่ถอนระหว่างอายุของกองทุน (non-redeemable) แต่สามารถกำหนดเงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (auto redemption) ได้เพิ่มเติม ในส่วนของการจัดการกองทุน stressed bond ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวม UI ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 64)
Tags: ก.ล.ต., ชำระหนี้, ตราสารหนี้