นายกฯ เป็นสักขีพยานรับมอบ-ส่งมอบสวนป่าเบญจกิติ ระยะ 2-3

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกการส่งมอบ-รับมอบ สวนป่า เบญจกิติ ระยะที่ 2-3 บางส่วน ระหว่างกองทัพบกกับกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์กับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่พักผ่อน มีพื้นที่กิจกรรมสำหรับครอบครัว

โดยนายกรัฐมนตรีได้เดินชมทัศนียภาพภายในโครงการ พร้อมแนะนำให้ปลูกต้นจามจุรี เพื่อช่วยฟอกอากาศ และต้นทองกวาว โดยอยากให้เด็กนักเรียนนักศึกษามาเรียนรู้ธรรมชาติ และระบบนิเวศ ขณะเดียวกันพอใจในภาพรวมของโครงการทั้งหมด

สำหรับการก่อสร้างสวนป่าเบญจกิติระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ มีกรอบระยะเวลาการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2565 และจะจัดงานเปิดโครงการฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 และจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการต่อไป

ทั้งนี้ สวนป่าเบญจกิติ มีรูปแบบเป็นสวนป่าเชิงนิเวศน์ที่ใช้ศักยภาพจากต้นไม้เดิมในพื้นที่ที่เก็บรักษาไว้ และการปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่โครงการฯ รวม 8,725 ต้น พรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด โดยได้กำหนดพรรณไม้ใหญ่ในแต่ละจุด เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสวนป่าให้มีความโดดเด่น ภายในสวนป่ามีต้นไม้หลากสี สลับและเปลี่ยนไปหมุนเวียนกันแต่ละฤดู มีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ทางเดินศึกษาธรรมชาติ และสามารถใช้ทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเชื่อมไปยังพื้นที่สวนน้ำเบญจกิติ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับสะพานเขียวที่สามารถเชื่อมไปยังสวนลุมพินีได้

พร้อมออกแบบปรับปรุงอาคารเดิมในพื้นที่อให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ และอาคารกีฬาให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย การเปลี่ยนผ่านเมืองสู่ป่า จากโรงงานเป็นสวน ตลอดจนการเตรียมพื้นที่จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่วนอาคารกีฬา จะเป็นพื้นที่สำหรับการประกอบกิจกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ แก่สื่อมวลชน โดยกล่าวเพียงว่า “ไม่เอา พูดเล่น ไปตีความกันเยอะ”

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การจัดสร้างสวนสาธารณะเบญจกิติ มีเนื้อที่รวมประมาณ 450 ไร่ โดยกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดสร้าง และการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง มีการออกแบบสวนสาธารณะ เป็น 2 ส่วน คือ สวนน้ำ เนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ และสวนป่า เนื้อที่ประมาณ 320 ไร่

ที่ผ่านมาในปี 2547 กรมธนารักษ์ได้จัดสร้างสวนน้ำเบญจกิติ และในปี 2559 ได้ดำเนินการจัดสร้างสวนป่าระยะที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ และได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการ ในปี 2563 กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ได้ขอความร่วมมือจากกองทัพบกเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ โดยมีกรอบระยะเวลาการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2565

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 และได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 พื้นที่ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ปัจจุบัน กองทัพบกได้ก่อสร้างพื้นที่ก่อสร้างที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 160 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดให้มีการจัดงานส่งมอบ-รับมอบ สวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 บางส่วน ระหว่างกองทัพบกกับกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์กับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กับกรมธนารักษ์ และให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาสวนสาธารณะเบญจกิติต่อไป

สำหรับพื้นที่ก่อสร้างที่ 2 อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเป็นงานปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์อาคารกีฬา และในส่วนงานสวนที่เหลือมีกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้มีช่วงเวลาเตรียมจัดงานเปิดโครงการฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 และจะได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,