วัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา-จอห์นสันฯไม่สามารถป้องกันโอมิครอน หากไม่ฉีดบูสเตอร์

ผลการศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่า วัคซีนของทั้ง 3 บริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐซึ่งได้แก่ วัคซีนของโมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และไฟเซอร์/ไบออนเทค ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หากไม่มีการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลการศึกษาดังกล่าวได้จากการวิจัยในห้องทดลองซึ่งดำเนินการโดยโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบัน MIT ด้วยการนำเลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีนของทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวมาทำการทดลองประสิทธิภาพในการต้านทาน Pseudovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไวรัสโอมิครอน

ทั้งนี้ ทีมวิจัยจากทั้ง 3 สถาบันพบว่า วัคซีน 2 เข็มของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค และโมเดอร์ รวมทั้งวัคซีน 1 เข็มของจอห์นสัน แอนด์ จอนห์สัน สามารถสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing Antibody) ของไวรัสโอมิครอนได้ในระดับต่ำ แต่เลือดที่ได้รับจากผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์สามารถสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ของไวรัสโอมิครอนได้ดีกว่า

นอกจากนี้ ทีมวิจัยของทั้ง 3 สถาบันยังตั้งข้อสังเกตว่า ไวรัสโอมิครอนสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสเดลตาถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มว่าไวรัสโอมิครอนจะกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักแทนไวรัสเดลตาในไม่ช้านี้

ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดของอังกฤษซึ่งออกรายงานเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2 เข็ม อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษ (HSA) ยังพบว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2 เข็มให้ประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันอาการของโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอน เมื่อเทียบกับการป้องกันสายพันธุ์เดลตา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , ,