พาณิชย์ พร้อมรับ RCEP ปี 65 ชวนผู้ประกอบการทดสอบระบบออกหนังสือรับรองตั้งแต่ 16 ธ.ค.

นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ โดยกรมการค้าต่างประเทศซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) และกำกับดูแลการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ได้เตรียมระบบต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไว้พร้อมแล้ว

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP กรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำระบบที่เกี่ยวข้องไว้เรียบร้อยแล้ว 3 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ที่อยู่ระหว่างการเปิดระบบเพื่อทดสอบและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่ได้ลองใช้งานเสมือนจริงแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ จะเปิดระบบเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ Form RCEP ได้จริง ในวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับ Form RCEP ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป 2) ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และ 3) ระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอตรวจต้นทุนของสินค้าส่งออกและยื่นคำขอขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตผ่านทั้ง 2 ระบบดังกล่าวได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

สำหรับระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) กรมฯ ได้นำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น การใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) และการพิมพ์ลงบนกระดาษ A4 รูปแบบพิเศษที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงโดยมี QR Code เพื่อยืนยันความถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาในการรับบริการ รวมทั้งช่วยลดการตรวจสอบย้อนกลับจากศุลกากรปลายทาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ 1 ใน 85 รายการของบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ (MOC Online One Stop Service) ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้งานระบบได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยผู้ส่งออกที่ต้องการศึกษาข้อมูลรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการออก Form RCEP สามารถศึกษาได้จากประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ในเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th

สำหรับระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นคำขอตรวจต้นทุนผ่านระบบและแนบเอกสารหลักฐานตามการดำเนินการยื่นคำขอตรวจต้นทุนตามปกติ โดยหากเป็นการส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ผู้ส่งออกจำเป็นต้องตรวจสอบรายการสินค้าจากประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ว่าเป็นรายการสินค้าตามภาคผนวก จ ที่จะต้องมีเงื่อนไขในการตรวจต้นทุนเพิ่มเติมหรือไม่ประกอบด้วย

ส่วนระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขึ้นทะเบียนว่าต้องเคยใช้การรับรองตนเองของอาเซียน (AWSC Self-Certification) หรือมีประสบการณ์ในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ประเทศใดประเทศหนึ่งมาแล้ว และเมื่อได้รับการอนุมติแล้ว จะมีอายุทะเบียน 2 ปี

โดยผู้ส่งออกสามารถยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือ http://self-cert.dft.go.th/self-cert/home/login2.aspx ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยผู้ส่งออกที่ได้รับการอนุมัติเป็นผู้ส่งออกที่รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายใต้ความตกลง RCEP จะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เน้นย้ำว่า สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA ถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลง RCEP ที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 15 ประเทศ เป็นความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ การลดกำแพงภาษีระหว่างประเทศสมาชิกจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกไทยทั้งในส่วนของการเข้าถึงตลาดที่กว้างกว่าเดิม และในส่วนของการแสวงหาวัตถุดิบมาเพื่อต่อยอดการผลิตสินค้าและส่งออกได้ต่อไป

ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม ศึกษา และทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวได้อย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตกลง RCEP ได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ส่งออกของไทยในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดโดยการใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะสามารถจะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ส่งออก เนื่องจากสามารถรับรองบนเอกสารทางการค้า เช่น Invoice ได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ดี กรมการค้าต่างประเทศ ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ เข้าร่วมทดสอบการใช้งานเสมือนจริงของระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป ผ่านทางระบบการให้บริการ http://demoedi.dft.go.th/ และใช้ประโยชน์จากการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผ่านระบบ Self-Certification http://self-cert.dft.go.th/self-cert/home/login2.aspx ของกรมการค้าต่างประเทศ โดยกรมการค้าต่างประเทศยินดีที่จะให้คำปรึกษา และรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงและยกระดับการบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ กรมการค้าต่างประเทศ มีกำหนดจัดงานสัมมนาในรูปแบบ Webinar ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP กับโอกาสทางการค้าการลงทุน” ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 12.00 น.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 64)

Tags: , , , ,