สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความโดย นางสาวนภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ในหัวข้อ “Metaverse โลกเสมือนกับสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยระบุว่า โลกเสมือน หรือ metaverse กำลังได้รับความสนใจจากหลาย ๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น Facebook ที่ได้ประกาศแผนมุ่งสู่ metaverse เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างตัวตนขึ้นมาใช้ชีวิตโลดแล่นในโลกเสมือน
Disney ซึ่งเรารู้จักกันดีในเรื่องสวนสนุก การ์ตูน และบันเทิงก็ประกาศจะขอเข้าร่วมวง metaverse หรือ Nike ก็เตรียมตัวเข้าสู่โลก metaverse เช่นกัน โดยเปิดรับนักออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อวางขายเครื่องแต่งกายและรองเท้ากีฬาในโลกเสมือน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยีที่สนใจ metaverse เช่น Microsoft Google รวมทั้งบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ก็มีแผนจะนำแนวคิด metaverse มาใช้กับการท่องเที่ยว การติดต่อ และการให้บริการประชาชน
แล้ว metaverse คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับโลกการเงิน รวมทั้งเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.ได้อย่างไร
Metaverse คือ โลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปิดให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ และสามารถทำกิจกรรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม พบปะพูดคุย ติดต่อ ท่องเที่ยว บันเทิง หรือช้อปปิ้งเสมือนอยู่ในโลกจริง ผ่านตัวตนที่เป็นอวตาร (avatar) ซึ่งเป็นกราฟฟิก 3 มิติ แทนตัวเราเวลาทำกิจกรรมใน metaverse โดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์รองรับการเข้าถึงโลกเสมือน ได้แก่ Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)
Augmented Reality (AR) เป็นเทคโนโลยีที่เสริมประสบการณ์การทำกิจกรรมบนโลกเสมือนให้เสมือนจริงยิ่งขึ้น โดยมีการนำสภาพแวดล้อมจริงบางส่วนผนวกกับกิจกรรมในโลกเสมือน และแสดงผลผ่านอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เช่น เกม Pokemon Go ที่ผู้เล่นสามารถทำภารกิจในเกมโดยเชื่อมต่อกับแผนที่ในโลกจริง
Virtual Reality (VR) เป็นเทคโนโลยีที่มีการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปในโลกเสมือน โดยต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ เช่น Headset VR หรือแว่น VR โดยเมื่อผู้ใช้งานสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว จะถูกนำเข้าไปสู่โลกเสมือน ตัดขาดจากสภาพแวดล้อมภายนอก และสามารถรับรู้ประสบการณ์ในโลกเสมือนผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว
ปัจจุบันมีแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มรองรับการทำธุรกรรมบนโลกเสมือนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการในรูปแบบ non-face to face ซึ่งในภาคการเงินเอง ผู้ให้บริการทางการเงินในต่างประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ โดยผนวกแนวคิดของการให้บริการทางการเงินบนโลกเสมือน (virtual financial services) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขององค์กรด้วย
ตัวอย่างเช่น บริษัท NH Investment & Securities ในเกาหลีใต้ที่จะเปิดตัว metaverse platform โดยมี virtual space เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานได้ทั้งการเข้าร่วมสัมมนาและเล่นเกมเสมือนโลกจริง หรือธุรกิจธนาคารอย่าง KB Kookmin Bank ที่ได้สร้าง Virtual Financial Town บน metaverse เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า ประกอบด้วย Financial and Business Center (Virtual Bank) ที่ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการผ่าน avatar และ VDO chat โดยจะได้รับบริการเสมือนไปที่สาขาธนาคารจริง Telecommuting Center (Virtual office) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารของพนักงานในองค์กร และ Playground พื้นที่สวนสาธารณะสำหรับพักผ่อน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าภาคการเงินได้ปรับตัวเพื่อตอบรับกระแสของ metaverse ซึ่งในอนาคตการให้บริการทางการเงินอาจไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ตั้ง สาขา โดยทุกอย่างสามารถให้บริการผ่านโลก metaverse ที่ผู้ใช้บริการสามารถได้รับบริการเสมือนทำธุรกรรมในโลกจริง ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทั้งภาคธุรกิจที่จะวางแผน และหน่วยงานกำกับดูแลที่อาจต้องทบทวนกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป
สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน metaverse ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาที่ดินในโลกเสมือน งานศิลปะ ตัวละคร avatar หรือ item ในเกมต่าง ๆ ในรูปแบบ Non-Fungible Token (NFT) ซึ่งมีเทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยอำนวยความสะดวกในการทำให้ธุรกรรมในโลก metaverse ทำให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงผู้ใช้งานสามารถระบุตัวตนความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินโลกเสมือน นอกจากนี้ คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลยังเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการใน metaverse ด้วย
สำหรับประเด็นที่ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลหรือกิจกรรมในโลก metaverse จะถูกกำกับดูแลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่
หากมีการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดในโลก metaverse ซึ่งสิทธิดังกล่าวยังไม่พร้อมให้ใช้งานในวันที่เสนอขาย (utility token ไม่พร้อมใช้) หรือเป็นโทเคนที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใน metaverse (investment token) โดยมีการเสนอขายในประเทศไทย จะถูกกำกับดูแลภายใต้กฎเกณฑ์เรื่องการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
นอกจากนี้ หากมีกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ด้วย
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะพัฒนาแพลตฟอร์ม metaverse จึงควรพิจารณาว่ากิจกรรมดังกล่าวอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่ โดยหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามหรือหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ และสำหรับผู้ที่สนใจใช้งานหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ใน metaverse ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนและสิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับ ตลอดจนทำความเข้าใจทางด้านเทคนิคและความปลอดภัยก่อนตัดสินใจ
ทั้งนี้ ผู้สนใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากคอร์สให้ความรู้พื้นฐาน “คริปโท 101” ได้ที่เว็บไซต์ www.smarttoinvest.com และตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต ทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ สินทรัพย์ดิจิทัล หรือทางแอปพลิเคชัน SEC Check First และหากพบเบาะแสหรือพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ สามารถแจ้งหรือร้องเรียนได้ที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร 1207 หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 64)
Tags: Cryptocurrency, Facebook, Metaverse, ก.ล.ต., คริปโทเคอร์เรนซี, นภนวลพรรณ ภวสันต์, สินทรัพย์ดิจิทัล