สายการบิน และธุรกิจการท่องเที่ยวมั่นใจปีหน้าการบินกลับมาโต แม้ไม่เต็ม 100% เชื่อมีดีมานด์เที่ยวไทยมาก แนะรัฐควรลดขั้นตอนเข้าไทยให้ง่ายขึ้น
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า ในช่วงนี้มองว่าการแข่งขันระหว่างประเทศที่พยายามดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ฉะนั้นอยากให้ภาครัฐพิจารณาการลดขั้นตอนการเข้าประเทศรวมถึงค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าตรวจหาเชื้อโรควิด-19 ค่าวีซ่า เพื่อโปรโมทให้คนเข้าประเทศ รวมทั้งขั้นตอนติดต่อประสานงานควรจะทำให้ง่ายขึ้น และเป็นจุดตัดสินใจเข้าไทยมากขึ้น
เมื่อเปิดประเทศ ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมารับบริการ ภูเก็ต สมุย เห็นแนวโน้มเริ่มดี และยังเป็นความหวังขยับเดินหน้า จากตอนนี้เปิดบินได้ 10-20% เชื่อปีหน้ากลับขึ้นมาเติบโตได้
“จากนี้ต่อไปคาดว่าเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อไทยเป็นประเทศที่คนอยากเข้ามาเที่ยวมาก ซึ่งมองเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย และช่วยส่งเสริมความสะดวก ก็อาจทำให้ขั้นตอนรวดเร็ว ก็ทำให้การท่องเที่ยวไทยก็กลับมาเร็ว “
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยากขอให้ช่วยเหลือต่อไปก่อน เพราะสายการบิน กลับมาบิน ได้เพียง 20-30% เท่านั้น คาดใช้เวลา ปีหน้าหรือปีถัดไป น่าจะกลับเข้ามาใกล้เคียงกับที่เคยบิน
ด้านนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV) และ สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า อยากให้สำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) ซึ่งกำกับดูแลสายการบิน ที่ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบ ในช่วงการระบาดโควิด และก็ขอยื่นเวลาออกไป เพราะเราอยู่สถานกาณ์ไม่ปกติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนสายการบินไทยออกไปแข่งขันกับสายการบินต่างชาติ หลายประเทศเปิดเจรจาที่มีการจำกัด Slot และเรื่องการแข่งขันธุรกิจสายการบินที่เป็นธรรม การเปิดสายการบินใหม่ ที่มีอยู่ก็มากแล้ว 7-8 สายการบิน
นอกจากนี้ การระบาดโควิดทำให้การเดินทางไม่เหมือนเดิม ทำให้เราไม่ไว้ใจกัน ให้เราห่างกัน มีการระมัดระวังตัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนเพื่อลดการสัมผัส ซึ่งสายการบินไทยแอร์เอเชียก็ได้ดำเนินการ นอกจากจองตั๋วออนไลน์ แล้วสามารถมาเช็คอินด้วยตนเอง รวมถึงเช็คอินกระเป๋า จากนั้น เพื่อเจอกันให้น้อยที่สุด เมื่อหลังโควิด ก็ปรับเข้ามาตรการสาธารณสุขด้วย
รวมถึงการเช็คอินด้วยระบบจดจำใบหน้า ซึ่งได้คุยกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกพท.เพื่อนำมาใช้ เพราะอนาคต หลายประเทศเริ่มแล้ว การขึ้นเครื่องก็จะลดการสัมผัสได้ ส่วนภายในเครื่องบิน ก็มีระบบกรองอากาศมีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว เรื่องเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการลดการสัมผัส ในการเดินทางแบบใหม่
นายสันติสุข คาดว่าในปี 65 การบินในประเทศจะกลับมา 100% แต่ในส่วนต่างประเทศคาดว่าจะกลับมา 60-70% ซึ่งในปี 66 จะกลับมา 100% ขณะเดียวกันก็ลุ้นในปี 65 จีนจะยอมให้คนจีนออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศ ถ้านักท่องเที่ยวจีนกลับมาเร็ว สายการบินไทยแอร์เอเชียก็กลับมาเร็ว เพราะต้องยอมรับว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูง ทั้งนี้หากรัฐบาลจีนเปิดเมือง ไทยแอร์เอเชียพร้อมกลับมาบินทุกเมื่อ เพราะมีทีมงานคอยประสานงานอยู่แล้ว
ตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย. ไทยแอร์เอเชียมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80-85% โดยใช้เครื่องบิน 25-30 ลำ และยอดจองในช่วงปีใหม่ ยังดีอยู่
นอกจากนี้ บริษัทได้ศึกษานำเหรียญดิจิทัลนำมาใช้จ่ายกับบริการของไทยแอร์เอเชีย เพราะยังต้องมีความรอบคอบในการนำมาใช้
ส่วนในปีนี้ปรับลดจำนวนเครื่องบินออก 7 ลำ เหลือ 53 ลำ ทำให้บริษัทปลดพนักงานออก 10% หรือ ประมาณ 500 กว่าคนจากทั้งหมด 5,000 คน เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม กลางปี 65 น่าจะเห็นทิศทาง ก็จะวางแผนจ้างกลับมา
นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า สิ่งที่เตรียมความพร้อมสำหรับ 6 เดือน-1 ปี ได้แก่ ความชัดเจนนโยบายในแต่ละจังหวัดที่พร้อมรับนักท่องเที่ยวได้ หากมีการกำหนดมาตรฐานสาธารณสุขเป็นแบบเดียวกันก็จะไม่เกิดความสับสน และความชัดเจนภาครัฐของไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด เมื่อสื่อสารได้ จะทำให้ภาครัฐสามารถเจรจากับประเทศอื่น ซึ่งพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากไทย เพราะสายการบินต้องมีผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออกประเทศ โดยอาจจับคู่กับประเทศใกล้ๆ ก่อน
รวมถึงอยากให้สนามบิน มีการพัฒนา ให้พร้อมรองรับผู้โดยสาร มีเคาน์เตอาร์วางกระเป๋า การเดินทางเปลี่ยนรูปแบบให้มีความสะดวกรวดเร็ว และอาจเป็นเรื่องการเชื่อมโยงสนามบินกับตัวเมือง ที่เป็นเมืองรอง
นางนันทพร กล่าวว่า cabin Factor ในประเทศปัจจุบันเฉลี่ย 78-80% โดยใช้จำนวนเครื่องบิน 7 ลำ และใช้ขนส่งคาร์โก้ 2 ลำ และในช่วงเทศกาลปีใหม่มียอดจองกว่า 40%
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่า การระบาดโควิดทำให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยน การให้บริการของสายการบินเปลี่ยนไป การเดินทาง การตรวจหาเชื้อ ซึ่งคาดว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ต่อไป การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก ที่นั่งบนเครื่องบินสามารถนั่งได้น้อยลงก็จะทำให้ต้นทุนดำเนินการสูงขึ้น
สิ่งที่อยากเห็นคือมาตรการของรัฐต้องชัดเจน แม้ว่าผู้โดยสารเข้ามาบินไปต่อไม่ได้ต้องลงมากักตัว นอกจากนี้เราต้องยกระดับเป็นฮับให้ได้ เหมือนสิงคโปร์ อีกทั้งทางการควรช่วยเหลือสายการบินต่อ รวมทั้งการให้เงินกู้ซอฟท์โลน กับสายการบินในประเทศ ด้วย
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าในหัวข้อ “เดินหน้าพร้อมเปิดประเทศ บริบทใหม่ของการท่องเที่ยว และโอกาสของอุตสาหกรรมการบิน” ว่า การท่องเที่ยวหลังยุคโควิดต้องเป็นการท่องเที่ยวที่คนไทยปลอดภัย นักท่องเที่ยวพอใจ และ รัฐบาลและเอกชนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต
ทั้งนี้ หลังจากที่ไทยเปิดการท่องเที่ยวแบบแซนด์บ็อกซ์ มีผู้เดินทางเข้าไทย พบตรวจติดเชื้อเพียง 0.03% และเมื่อเปิดประเทศ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา หรือ 42 วันที่ผ่านมานับแต่เปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา 1.5 แสนคน ที่เปลี่ยนมาใช้ Test & Go เห็นได้ว่าความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างขอ Thailand Pass สะสม 5 แสนราย ซึ่งอย่างน้อย 2 แสนคนจะเข้ามาท่องเที่ยวไทย ในระยะอันใกล้
อย่างไรก็ตาม การระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้การตรวจหาเชื้อจาก ATK มาเป็น RT-PCR แต่เชื่อมั่นว่ารัฐจะผ่อนคลาย
ด้านนายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า สายการบิน เป็นกลไกสำคัญ ที่จะนำนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา จึงอยากให้ช่วยลดตั่วโดยสาร กับภาครัฐก็ต้องการเห็นลดค่า Landing Fee และร่วมกันโปรโมทกัน ที่เชื่อว่า นักท่องเที่ยวทั้งหน้าเดิมและใหม่เข้ามาท่องเที่ยว ถ้าเรามีการอำนวยความสะดวกให้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 64)
Tags: การบินกรุงเทพ, บางกอกแอร์เวย์ส, พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ