กสิกรฯ คาดราคาข้าวปี 65 กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยหลังผ่านจุดต่ำสุดปี 64 ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรุมเร้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ราคาข้าวไทยในปี 65 น่าจะให้ภาพการเติบโตที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย จากปัจจัยหนุนสำคัญที่คาดว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ผนวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยหนุนการส่งออกข้าวไทยให้ดีขึ้นได้ ในภาวะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตในเกณฑ์ดี ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศน่าจะมีรองรับมากขึ้น ตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ราคามีโอกาสขยับขึ้นได้ แต่คงอยู่ในกรอบแคบๆ เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่รุนแรง และสถานการณ์โควิด-19 จากเชื้อกลายพันธุ์ (Omicron) ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

โดยคาดว่า ราคาข้าวเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในปี 65 อาจอยู่ที่ราว 8,900-9,400 บาทต่อตัน หรือหดตัว 1.6% ถึงขยายตัว 4.0% (YoY) นับเป็นราคาที่กระเตื้องขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 64 แต่คงเป็นการเติบโตบนฐานที่ต่ำ จึงนับว่ายังเป็นระดับราคาที่ต่ำและให้ภาพราคาที่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากปี 64 มากนัก (ราคาข้าวเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีในช่วงปี 59-63 อยู่ที่ 10,259 บาทต่อตัน) โดยปัจจัยหนุนที่ทำให้ราคากระเตื้องขึ้นได้น่าจะมาจากปัจจัยด้านอุปทานที่คาดว่าปัญหา Supply Disruption จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกน่าจะคลี่คลายมากขึ้นในช่วงหลังกลางปี 65 ผนวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยหนุนให้การส่งออกข้าวไทยอาจทำได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่น่าจะมีรองรับมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และอุปสงค์จากต่างประเทศตามเทรนด์ความมั่นคงด้านอาหารและข้าวเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค อันจะทำให้ภาพของราคาข้าวไทยน่าจะสามารถเติบโตกระเตื้องขึ้นได้ ในภาวะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตข้าวที่อยู่ในระดับสูง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยตามวงรอบของปรากฏการณ์ลานีญา และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้น/เฉพาะหน้าของภาครัฐที่จูงใจให้เกษตรกรยังคงมีการปลูกข้าวต่อไป

ขณะที่สถานการณ์ราคาข้าวไทยในปี 64 นับว่าน่าเป็นห่วง โดยมีทิศทางปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าจบทั้งปีน่าจะมีราคาเฉลี่ยตกต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี โดยราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอาจอยู่ที่ราว 9,040 บาทต่อตัน หรือลดลง 20.3% (YoY) ปัญหาหลักที่รุมเร้ากดดันราคาข้าวไทยคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อการบริโภคในประเทศจากการล็อกดาวน์ ปัญหาน้ำท่วม

ด้านการส่งออกข้าวลดลงอย่างรุนแรงต่ำสุดในรอบนับ 10 ปี จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ในภาวะที่ผลผลิตข้าวไทยอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงสายพันธุ์ข้าวไทยที่ไม่หลากหลาย และเริ่มไม่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก ล้วนเป็นปัจจัยกดดันซ้ำเติมให้ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เผชิญความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ หากพิจารณาทิศทางราคาข้าวไทยในอดีตจะพบว่า ราคาข้าวไทยซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์จะค่อนข้างผันผวนไปตามราคาตลาดโลก ตลอดจนมีปัจจัยกดดันหลากหลายให้ราคาข้าวไม่สามารถยืนรักษาระดับที่ดีต่อเนื่องได้ เช่น คู่แข่ง สภาพดินฟ้าอากาศ เป็นต้น ทำให้ราคาข้าวไทยมักจะอยู่ในระดับต่ำ จึงนับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมาอย่างยาวนาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการแก้ปัญหาด้านราคา และคงต้องใช้เวลาพอสมควรในการยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาปัจจัยท้าทายที่ยังคงรุมเร้ากระทบราคาต่อเนื่องจากปีก่อน อย่างการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงโดยเฉพาะคู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่มีแนวโน้มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยมากขึ้นด้วยราคาและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าไทย และมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าไทย ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยยังสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ตลอดจนคู่แข่งยังมีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวคุณภาพที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ที่ผู้บริโภคชาวจีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซียหันมานิยมมากขึ้น หรือข้าวออร์แกนิก ที่เป็นกระแสการบริโภคในระยะยาว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากเชื้อกลายพันธุ์ (Omicron) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ได้ อันจะทำให้ราคาข้าวไทยอาจเคลื่อนไหวขยับขึ้นได้ในกรอบแคบๆ

ทั้งนี้ จากปัญหาเชิงโครงสร้างด้านราคาที่มีความซับซ้อนและส่งผลกดดันราคาข้าวไทยมาอย่างยาวนาน กระทบต่อเนื่องมาถึงในปี 65 ที่แม้ราคาข้าวอาจกระเตื้องขึ้นได้บ้าง แต่ก็นับว่าราคายังอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับอดีต ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรให้ขายข้าวได้ในราคาที่ไม่สูงนัก อีกทั้งยังต้องเผชิญต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งต้นทุนแรงงาน ราคาปุ๋ย เงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่ล้วนส่งผลกดดันต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ นับว่าการแก้ปัญหาด้านราคาคงต้องทำหลายอย่างไปพร้อมๆกัน ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักและต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้มาตรการดูแลราคาข้าวของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้น/เฉพาะหน้า นับว่าเป็นแนวทางที่มีความจำเป็นและยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว แม้จะส่งผลกระทบต่องบประมาณภาครัฐที่ต้องใช้จำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคงต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีความจำเป็นในการพิจารณามาตรการระยะสั้นอื่นควบคู่กันอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ตลาด อย่างไรก็ดี แนวโน้มราคาข้าวในปี 65 ที่กระเตื้องขึ้น อาจช่วยลดภาระงบประมาณภาครัฐที่ต้องใช้ในระยะสั้น เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ลดลงได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจน้อยกว่ากรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการปัจจุบัน (ปี 64/65) ที่ราว 8.9 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน การนำแนวทางการแก้ปัญหาราคาข้าวระยะกลาง-ยาวมาปรับใช้ควบคู่ไปด้วย นับเป็นเครื่องยนต์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนข้าวไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการยกระดับในภาคการผลิต เช่น การพัฒนาระบบชลประทานของไทยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้มากขึ้น การให้ชาวนาเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนการแปรรูปกลางน้ำและปลายน้ำมากขึ้น การทำเกษตรแปลงใหญ่ที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงจากการใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและเป็นสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภคที่มีความพรีเมี่ยมมากขึ้น เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวออร์แกนิก อันจะเป็นการยกระดับไปสู่การแข่งขันด้านคุณภาพไม่ใช่การแข่งขันด้านราคาในตลาด MASS ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย (AgriTech) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ผนวกกับช่องทางการตลาดแบบ E-Commerce อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับข้าวไทยได้อย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)

Tags: , , ,