นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2564 (NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 : NECTEC–ACE 2021) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” อุตสาหกรรมคือแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคเศรษกิจของไทย แต่ในช่วงที่ผ่านกลับเติบโตช้าลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสามารถด้านแข่งขันและความเข้มข้นของการใช้เทคโนโลยีเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทย ประกอบกับสถานการณ์จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน
นอกเหนือจากการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ให้พร้อมต่อการแข่งขันภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย บวกกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับสายการผลิตเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบันได้เข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 10-40% และสร้างรายได้ 10-20% แต่ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้อุตสาหกรรม 4.0
จากเหตุผลดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME ให้สามารถยกระดับองค์กรให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ พร้อมรองรับการเข้าสู่ยุคความปกติใหม่หลังโควิด-19 ขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยใช้แนวทางบันได 3 ขั้น คือ 1.การประเมินความพร้อมในปัจจุบัน และการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการตามทิศทางของธุรกิจ (Initiation) 2.การจัดทำแผนดำเนินการและการจัดหาเทคโนโลยีโซลูชั่น (Solutioning) 3.การติดตั้งเทคโนโลยีโซลูชั่นและการประยุกต์ใช้งานในโรงงาน (Implementation & Operation)
เมื่อภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถประเมินความพร้อมได้ จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกจำนวนหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณากำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือ และกระตุ้นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ในการยกระดับความพร้อมของสถานประกอบการให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนากำลังคนอุตสาหกรรม และการพัฒนา Technology Solution Provider/System Integrator (SI) ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการ ในการยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่ำลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศอีกด้วย
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการส่งมอบผลงานให้กับประเทศไทย เป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย การสนับสนุนภารกิจสำคัญของประเทศและเครือข่ายพันธมิตร โดยในปีนี้มีกลุ่มเป้าหมายและพันธมิตรที่สำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตรเอกชนที่ต้องการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเทคโนโลยีเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน
ในปีนี้ เนคเทคได้จับมือร่วมกับพันธมิตรสำคัญได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และผู้สนับสนุนการจัดงานจากภาคเอกชน 8 องค์กร ภาครัฐ 1 องค์กร ร่วมกันจัดงานในรูปแบบออนไลน์ มีกำหนดจัดขึ้นวันที่ 13-16 ธันวาคม 2564 และมีพิธีเปิดงาน ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” โดยมุ่งเน้นด้าน “Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services” เพื่อแสดงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมในยุคดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0 เป็นสำคัญ
ภายในงานจะมีการนำเสนอองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของเนคเทค และผลงานที่ร่วมกับพันธมิตร มานำเสนอในรูปแบบการสัมมนาวิชาการ และการจัดนิทรรศการแบบOnline โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานและบริการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อแสดงศักยภาพและเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาค อุตสาหกรรม และนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการทางด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิสก์ และสารสนเทศขั้นสูง
โดยในปีนี้จะมีการจัดงานในรูปแบบ Online มีระยะเวลาจัดงาน 4 วัน, มี 4 Keynote, 17 หัวข้อสัมมนา, 50 บูธนิทรรศการ, 10 ห้องเจรจาธุรกิจ ที่สำคัญ คือ Virtual Exhibition ทั้ง 50 บูธ ยังเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปรับชมและศึกษาข้อมูลได้ตลอด 3 เดือนภายหลังวันจัดงาน
นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 35 ปี ในการก่อตั้งเนคเทคได้สะสมองค์ความรู้และผลงานวิจัยในด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์สำคัญ โดยมุ่งเน้นสร้างฐานรากเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูงให้กับประเทศ ที่ผ่านมา ได้ส่งมอบผลงานในหลายด้าน อาทิ AIFORTHAI, KidBright, NETPIE2020, HandySense Smart Farming Open Innovation, Open-D และในวันนี้สิ่งหนึ่งที่เนคเทคพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ประกอบกับมีโจทย์สำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2564 เนคเทคจึงส่งมอบ Smart Factory Platform ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภายใต้แผนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จึงมีโอกาสขยายต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมทุกระดับต่อไป พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0
ภาคอุตสาหกรรมจะได้เตรียมความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมอุตสาหกรรม 4.0 คือ การรู้จักตัวเองด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 (Thailand I4.0 Index) ช่วยในการสนับสนุนตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นกระบวนการการประเมินศักยภาพความพร้อมของผู้ประกอบการ โรงงาน และบริษัท โดยทำการลำดับการปรับปรุงโรงงานในด้านต่างๆ เมื่อภาคอุตสาหกรรมมีความเข้าใจก็สามารถเริ่มต้นง่ายๆ เพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในราคาที่จับต้องได้ด้วยแพลตฟอร์ม IDA หรือ Industrial IoT and Data Analytics Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มไอโอที (IoT) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิตและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและอนุรักษ์พลังงานให้ดีที่สุด”
นอกจากนี้ เนคเทค ร่วมกับ ส.ท.อ. พร้อมพันธมิตร ร่วมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ณ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิต ผู้พัฒนาระบบ นวัตกร นักวิจัยตลอดจนนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมต่างๆ
SMC ช่วยปลดล็อกปัญหาในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยบริการทั้ง 5 ด้าน 1) การประเมินความพร้อมของโรงงาน ว่ามีประเด็นใด ที่ต้องพัฒนาไปสู่ industry 4.0 ด้วย Thailand I4.0 Index 2) การพัฒนากำลังคนร่วมกับพันธมิตรเพิ่มทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลง 3) การเลือกใช้เทคโนโลยีและการให้คำปรึกษาเรื่องแหล่งเงินทุนรวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีกับอุตสาหกรรมการผลิตแบบ One Stop Shop 4) ให้บริการแพลตฟอร์มพื้นฐาน เพื่อตอบโจทย์โรงงานขนาดเล็กและกลางที่มีเงินลงทุนจำกัด 5) ให้บริการเครื่องมือทดสอบ (Testbed) เบื้องต้นสามารถเข้ามาใช้บริการศูนย์การเรียนรู้ SMC Learning Center เพื่อเรียนรู้และรับบริการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สามารถรับคำแนะนำจากบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4.0 ในด้านต่างๆ กว่า 100 ท่าน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันดิจิทัลดิสรัปชันและโควิด-19 ต่างเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้น ทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปให้ได้ ต้องเรียนรู้ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ Metaverse, Automation & Robotics, Artificial Intelligence, Block Chain และ Internet of Things เป็นต้น จากข้อมูลพบว่า มีการนำระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย โดยมีตัวเลขประมาณการเติบโตถึง 14% ต่อปี
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน กระบวนการผลิตสู่แนวทาง Industry 4.0 ให้มากที่สุด ปัจจุบันไทยมีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 50% (มาตรฐานสากลอยู่ที่ประมาณ 85%) ซึ่งทำให้ไทยมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสูงกว่าสากล ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้เอง ส.อ.ท. จึงมุ่งขับเคลื่อนและสนับสนุนให้เกิด Industry 4.0 ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลักดันให้เกิด Industry 4.0 use cases ในภาคอุตสาหกรรม, การสนับสนุนหลักสูตรด้าน Industry 4.0 ผ่าน FTI Academy, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวทางการผลักดันและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม, สนับสนุนการจับคู่ด้าน Industry 4.0, ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประเมินสถานะความพร้อมเพื่อเข้าสู่ Industry 4.0 และการร่วมกำกับดูแลและสนับสนุนผู้ประกอบการนำร่อง พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์ม และหวังว่าผู้ประกอบการจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ของวิทยากรภายในงาน NECTEC-ACE 2021 นี้อย่างเต็มที่ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขอตัวเองต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 64)
Tags: ดิจิทัล, พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์, ส.อ.ท., อว., เทคโนโลยี, เศรษกิจของไทย