ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศ 396 แห่ง โดยตีราคาประกันไว้ที่รายละ 1 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล โดยนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 17 ก.พ.65
โดยคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เป็นจำเลยที่ 1, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตจเรตำรวจและอดีตรักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 2, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ ประธานกรรมการประกวดราคาฯ เป็นจำเลยที่ 3 และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ กรรมการและเลขานุการ เป็นจำเลยที่ 4, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นจำเลยที่ 5 และนายวิษณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 6
นายสุเทพ ยืนยันว่า ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตัดสินใจในแง่ของนโยบาย การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ และไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยอนุมัติตามที่มีการเสนอในราคาต่ำกว่าราคากลางกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าผ่านการประมูลชอบตามกฎหมายแล้วจึงได้ลงนาม ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ส่วนการสร้างสถานีตำรวจไม่แล้วเสร็จเป็นเรื่องของการบริหารจัดการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
คดีนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะดำเนินคดีกับตนเองได้ แต่วันนี้ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องเอง ซึ่งต้องติดตามว่าพยานหลักฐานที่ ป.ป.ช.จะนำมาแสดงต่อศาลเมื่อเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานที่ตนเองมีอยู่จะเป็นอย่างไร โดยมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย
ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้นำเอกสารคำร้องมายื่นฟ้องทั้งหมด 1,302 หน้า เป็นเอกสารซึ่งตนเองเคยชี้แจง ป.ป.ช.และอัยการครบถ้วนสมบูรณ์ไปแล้ว ซึ่งตนเองจะนำประเด็นที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและไม่รับดำเนินคดีมาโต้แย้ง รวมทั้งจะนำพยานเอกสารประมาณ 200 หน้ามาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ส่วนพยานบุคคลยังไม่ได้กำหนด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 64)
Tags: คดีทุจริต, ศาลฎีกา, สร้างโรงพัก, สุเทพ เทือกสุบรรณ