กลายเป็นกระแส Talk of the town แวดวงของตลาดทุนและตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเมืองไทย ภายหลังจาก บมจ.เอ็ม วิ ชั่น (MVP) ผู้ดำเนินธุรกิจ Event Organizer ชื่อดังประกาศออก MVP Coin กระตุกความเชื่อมั่นผู้ลงทุนผลักดันราคาหุ้น MVP ทะยาน ขึ้นไปแตะเพดาน (Ceiling) เมื่อวันที่ 27 พ.ค.64 และจากกลยุทธ์การดึงนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจและลดผล กระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ถาโถมธุรกิจอีเว้นต์ได้มากน้อยแค่ไหน และมูลค่า MVP Coin จะมีความน่าสนใจอย่างไรและจะเป็นเหรียญ มูนบน Bitkub Chain เครือข่ายบล็อกเชนฝีมือคนไทย
ล่าสุด (4 มิ.ย.64) ทาง Moon Maker Protocal ได้มีการประกาศผ่าน Twitter ว่าได้มีการร่วมมือ (Collaborate) กับเหรียญ MVP Coin เพื่อผลักดันเหรียญ ก้าวข้ามสู่โลก Defi (Decentralized Finance) ที่จะมีการลิสต์บน Bitkub Chain ในเร็ว ๆ นี้
MVP Coin ต่อยอดธุรกิจอีเว้นท์ ย้ำไม่ใช่ระดมทุนแบบ ICO
นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร MVP เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ภายหลังจากบริษัทขอคำปรึกษากับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อดำเนินการออกเหรียญรูปแบบของ “Utility Token” หรือ เป็นเหรียญเพื่อใช้ประโยชน์แลกเปลี่ยนกับบริการ หรือการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทในกลุ่ม MV Caravan บนหน้าเว็บไซต์ ประกอบ ด้วย 8 ประเภท ได้แก่ MV Caravan, EV Bike, Sup, MTB, Movie, Pre-Wedding, Concert และ Food & Baverage โดย สามารถเลือกชำระด้วย MVP Coin ตามจำนวนที่ระบุ แต่จะสามารถใช้งานได้กับบริการที่กำหนดเท่านั้นไม่สามารถใช้งานในส่วนของ Event Organizer ได้
“ก่อนหน้านี้บริษัทจัดทำเป็นคูปองเป็นเล่มๆ เพื่อนำมาใช้แลกบริการกลุ่มของบริษัท ซึ่งก็จะมีส่วนลดให้จำนวนหนึ่งหากซื้อใน ปริมาณมากพอ แต่ก็มีความเห็นจากกลุ่มลูกค้าว่าช่วงล็อกดาวน์ไม่สามารถใช้คูปองได้ ประกอบกับส่วนตัวมีการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีบล็อก เชนและคริปโทฯมาพอสมควร เป็นที่มาของการทำ MVP Coin เป็นรูปแบบ Utility Token นำไปขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความเข้าใจ เป็นอย่างดีเรื่องของคริปโทฯ ข้อดีคือหากไม่ได้ใช้ MVP Coin ก็สามารถนำไปเปลี่ยนมือได้”
แม้ว่าหลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าบริษัทระดมทุนรูปแบบ ICO แต่การขาย MVP Coin ไม่ใช่รูปแบบการระดมทุน แต่เป็นการ นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาเปลี่ยนรูปแบบของคูปองเดิมๆ ให้เป็นเหรียญดิจิทัล ซึ่งใช้งานได้ง่ายขึ้น สะดวกกว่าเดิม แม้ว่าราคา MVP Coin จะขึ้นหรือลงก็ตาม ทางบริษัทไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในราคา เพราะรับรู้รายได้จากการขายสิทธิให้กับบริษัทย่อยแล้ว และหากมีบริการที่ เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลบวกกับบริษัทในระยะยาว
เปิดที่มาราคา Coin 0.33 บาท เชื่อมั่น Pre Sale ดีมานด์ล้นวัน
นายโอภาส กล่าวว่า การกำหนดราคา MVP Coin อยู่ที่ 0.33 บาท เกิดจากบริษัทย่อยเข้าซื้อสิทธิมาบริหารเป็นมูลค่า 330 ล้านบาท แต่เป็นการซื้อในราคาส่วนลดจากราคาประเมินจริงอยู่ที่ 494 ล้านบาท ดังนั้น หากคำนวณราคาปกติแบบไม่มีส่วนลดจากการ คำนวณออกเหรียญ 1,000 ล้านเหรียญ จะอยู่ที่เหรียญละ 0.49 บาท แต่หากคำนวณจากมูลค่า 330 ล้านบาทแล้วราคาเหรียญจะอยู่ที่ 0.33 บาท มองว่าเป็นราคา Discount สำหรับคนที่สนใจในเหรียญนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการ Airdrop (ลงทะเบียนเพื่อรับเหรียญฟรี) ไปแล้วบางส่วน และจะมีการขายรอบ Pre-sale วันที่ 7-14 มิ.ย.64 จำนวน 390 ล้านเหรียญ และสามารถซื้อขายบนกระดานเทรดได้ในวันที่ 14 มิ.ย.64 อีกจำนวน 300 ล้านเหรียญ (กระดานที่ลิสต์เหรียญจะประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 14 มิ.ย.64 อีกครั้ง)
นายโอภาส กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกระแสความต้องการ MVP Coin จากกลุ่มลูกค้ามีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า รายใหญ่ที่เป็น Agency ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว หรือกลุ่มลูกค้าที่เป็นต่างชาติ บริษัทได้กำหนดจองขั้นต่ำที่ 2,500 เหรียญ และจำนวนสูง สุดที่ 330,000 เหรียญเป็นการคำนวณจากมูลค่าการใช้บริการ 8 ประเภทที่มีราคาต่ำสุดและสูงสุด
“ไม่ได้มองว่าคนที่ซื้อเหรียญจะเป็นแค่คนที่ใช้บริการเท่านั้น แต่มีอีกหลายกลุ่มที่ต้องการเหรียญตรงนี้ เพราะสามารถซื้อเหรียญ เป็นล็อตแล้วนำไปเพิ่มมูลค่าได้ โดยการนำไปขายบริการต่อ เช่น ธุรกิจ Agency เป็นต้น”
นายโอภาส กล่าว
สำหรับผู้สนใจอยากศึกษาข้อมูล MVP Coin เพิ่มเติมสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://mvp-coin.com/
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 64)
Tags: Bitkub, Blockchain, Cryptocurrency, MVP, คริปโทเคอร์เรนซี, บล็อกเชน, เอ็ม วิ ชั่น, โอภาส เฉิดพันธุ์