นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากที่องค์การอนามัยโลก (WTO) ได้ประกาศให้ไวรัสโควิดสายพันธุ์ Omicron ที่พบในทวีปแอฟริกาเป็นไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวล (Variants of Concerns : VOCs) นั้น ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกข้อกำหนดการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับ 8 ประเทศที่พบการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ Omicron ในทวีปแอฟริกา และสำหรับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา ดังนี้
กรณี 8 ประเทศเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด (บอตสวานา, เอสวาตินี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้, ซิมบับเว)
- ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเพื่อขอเดินทางเข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 64
- ไม่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64
- กรณีที่ได้รับอนุญาตเข้ามาแล้ว สั่งให้กักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 64
กรณีประเทศอื่นในแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศ
- ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเพื่อขอเดินทางเข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 64
- ผู้ที่ได้รับอนุญาตทุกประเภทแล้ว ให้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตจนถึง 15 ธ.ค. 64 (หลังจากนั้นต้องกักตัว 14 วัน)
พร้อมกำหนดรูปแบบการเข้าราชอาณาจักร ดังนี้
- ไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Test and Go
- ไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแบบ Sandbox
- สามารถเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยการกักตัวในสถานที่ราชการกำหนดไว้เท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน ต้องตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง ในวันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลผู้เดินทางจากประเทศในแอฟริกาใต้รวม 12 ประเทศ รวม 1,007 รายที่เข้ามาในไทยและผ่านระบบ Sandbox ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการออกประกาศดังกล่าวของ WHO ที่จัดให้ไวรัสโควิดสายพันธุ์ Omicron ที่พบในทวีปแอฟริกาเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวลนั้น เนื่องจากพบว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์มากถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้มีข้อสันนิษฐานได้ว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อได้ง่ายและเร็วขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเพิ่งเป็นการค้นพบใหม่ ซึ่งต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป
“ข้อมูลการระบาด การติดเชื้อตอนนี้ยังมีไม่มากพอ ตอนนี้จึงมีเพียงแค่การสันนิษฐานว่าสายพันธุ์ Omicron นี้ อาจเพิ่มอำนาจการแพร่เชื้อ และหลบภูมิคุ้มกันได้พอสมควร มีการตรวจเจอเชื้อได้ง่าย ซึ่งหมายความว่าแพร่ได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ต้องรอดูข้อมูลกันต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ทั้งนี้ WHO ได้กำชับมายังหน่วยงานสาธารณสุขของทุกประเทศ ให้เพิ่มการรายงานการตรวจหาเชื้อโควิดของแต่ละประเทศ ในทุกสายพันธุ์ โดยในส่วนของไทยเองได้ส่งรายงานไปให้ WHO แล้วกว่า 7 พันตัวอย่าง และยืนยันว่า 8 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่พบการระบาดของสายพันธุ์ Omicron นี้ ไม่ได้เป็นประเทศที่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาในไทย
นพ.ศุภกิจ ยืนยันว่า มาตรการในการเฝ้าระวังและรับมือ ตลอดจนการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อของประเทศไทยมีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนในการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันตนเอง ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และการเว้นระยะห่าง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยลดโอกาสในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, Omicron, กระทรวงสาธารณสุข, เดินทางเข้าประเทศ, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์ใหม่, โอภาส การย์กวินพงศ์