น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง เกี่ยวกับการติดต่อหรือการแจ้งผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับที่ 31 (พ.ศ. 2521) ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ทำให้การตรวจสอบที่อยู่เจ้าของที่ดินข้างเคียง การติดต่อหรือการแจ้งไม่สามารถดำเนินการให้เจ้าของที่ดินผู้ยื่นคำขอรังวัดได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับในปัจจุบันหน่วยงานได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการปฏิบัติราชการ จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุงกฎกระทรวงฉบับเดิม
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงที่ปรับปรุงใหม่ประกอบด้วย
1. กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 31 (พ.ศ.2521) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
2. กำหนดให้การติดต่อผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงให้มาระวังแนวเขต ให้แจ้งโดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ เป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และตามที่อยู่ที่ตรวจสอบได้จากระบบสารสนเทศฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร จากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ส่วนกรณีที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นนิติบุคคล ให้ตรวจสอบจากระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
3. ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ติดต่อโดยวิธีปิดประกาศเพื่อให้มาลงชื่อรับรองแนวเขต หรือคัดค้านการรังวัดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานที่ดินและที่ทำการผู้ใหญ่บ้านซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ และให้ถือว่าผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้รับทราบหนังสือเมื่อล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
4. กรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้รับการติดต่อให้มาระวังแนวเขตแล้ว แต่ไม่มารับรองแนวเขตโดยไม่คัดค้านการรังวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำเป็นหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้มาลงชื่อรับรองแนวเขต หรือคัดค้านการรังวัด โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาอีกครั้งหนึ่ง
5. ในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้รับการติดต่อแล้ว แต่มาแล้วไม่ยอมลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการไม่ยอมลงลายมือชื่อ และจัดทำเป็นหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้มาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัด โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนา หรือตามที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้แจ้งไว้ในวันรังวัดอีกครั้งหนึ่ง
6. กรณีที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินสาขาใดได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการติดต่อ หรือส่งหนังสือแจ้งการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ถือเสมือนเป็นต้นฉบับ และให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับข้อมูล
7. กำหนดให้การติดต่อ หรือการแจ้งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 31 (พ.ศ.2521) จนแล้วเสร็จ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 พ.ย. 64)
Tags: ประชุมครม., ประมวลกฎหมาย, มติคณะรัฐมนตรี, โฉนดที่ดิน