TKS เผยกำไร Q3/64 โตกระฉูด รับรู้ส่วนแบ่งกำไรการลงทุน-ปรับโครงสร้างธุรกิจ

นายจุติพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ที.เค.เอส.เทคโนโลยี (TKS) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 3/64 (1 ก.ค.-30 ก.ย. 64) บริษัทมีกำไรสุทธิ 852.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 782.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,105% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 70.8 ล้านบาท

โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 413.3 ล้านบาท ลดลง 51.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 465.2 ล้านบาท เป็นผลจากการชะลอโครงการของลูกค้ากลุ่มธนาคารและภาคการส่งออก ในกลุ่มสินค้าประเภทงานพิมพ์ธุรกิจปลอดการปลอมแปลง ฉลากสินค้า และบัตรพลาสติก จากผลกระทบของโควิด-19

อย่างไรก็ดีบริษัทยังคงสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตและควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าเพิ่มขึ้น 13.60 ล้านบาท หรือ 21.3% และรับรู้กำไรจากการปรับโครงสร้างธุรกิจในทางบัญชี จำนวน 776.10 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 852.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 782.10 ล้านบาท หรือ 1,105%

สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯในงวด 9 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,076.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 923.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 602.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 153.3 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 28.7% เพิ่มสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 22% เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารให้เหมาะสม และได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการค้าร่วมเพิ่มขึ้น 30.5% จากความต้องการสินค้าไอทีที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และรับรู้กำไรจากการปรับโครงสร้างธุรกิจในทางบัญชี จำนวน 776.1 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 1,373.4 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยจำนวน 29.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 1,403.1 ล้านบาท

โดยในไตรมาส 3/64 TKS ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนออกใหม่ของบมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ (Fintech Ecosystem) ในสัดส่วน 9.68% เพื่อเสริมในส่วนของการเป็นบริษัท Tech Ecosystem และยังสร้างโอกาสในการขยายฐานลูกค้าร่วมกัน นอกจากนี้บริษัทยังได้ดำเนินการจัดโครงสร้างธุรกิจสิ่งพิมพ์กระดาษและธุรกิจบัตรพลาสติกของบมจ.ทีบีเอสพี (TBSP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TKS ถือหุ้น 98.48% โดยภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจเสร็จสิ้น TKS ได้ขายหุ้นสามัญของ TBSP คิดเป็นสัดส่วน 73.48% และคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,005.02 ล้านบาท ให้แก่ SABUY ซึ่งการขายหุ้นครั้งนี้จะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของ TKS คงเหลือ 25% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ TBSP

TKS และ SABUY จะผนึกกำลัง (Synergy) เพื่อปรับเปลี่ยนและต่อยอดรูปแบบธุรกิจบัตรพลาสติกของ TBSP ให้มีโอกาสเข้าถึงฐานลูกค้ารายใหม่ในตลาดการเงินอิเล็กทรอนิกส์และการบริหารจัดการศูนย์อาหารซึ่งเป็นคู่ค้าเดิมของ SABUY ในขณะเดียวกัน TKS และ TBSP ก็จะได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจให้บริการรับชำระเงินผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงธุรกิจการจำหน่ายสินค้าผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นการทำธุรกรรมผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในปัจจุบัน บริษัทเชื่อว่าการร่วมลงทุนกันระหว่างบริษัทTBSP และ SABUY จะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ของทุกฝ่ายร่วมกันในอนาคต

“บริษัทได้มุ่งเน้นการปรับแผนธุรกิจของบริษัทฯมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการพัฒนานวัตกรรมด้านระบบสารสนเทศ และได้ปรับโครงสร้างองค์กรในกลุ่มบริษัทให้เกิดผลผนึก (Synergy) ทั้งด้านการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ และด้านการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยรวมสำหรับรักษาฐานธุรกิจเดิมควบคู่ไปกับการหาพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ ที่ผ่านมา TKS มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง มีการเข้าลงทุนใน บริษัทเทคโนโลยีเพื่อพลิกโฉมองค์กรก้าวสู่การเป็นบริษัท Tech Ecosystem ตามเทรนด์ของโลก การเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตและเป็นโอกาสธุรกิจในอนาคต” 

นายจุติพันธุ์ กล่าว

ล่าสุด TKS เข้าไปลงทุนในกองทุน SeaX Ventures ซึ่งเป็นกองทุนสัญชาติไทย ที่เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลกที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง (Deep Technology) ใน 6 ด้าน ได้แก่ Blockchain, Foodtech, Biotech & Life Science, Artificial Intelligence, Robotics และ IoT & Hardware ซึ่ง นับเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทในการปรับโครงสร้างธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีโซลูชั่นแบบครบวงจร

โดยปัจจุบันบริษัทฯลงทุนใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่

  1. ธุรกิจผู้ให้บริการสิ่งพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและบริหารคลังสินค้า (Security & Fulfillment Solution) ผ่านการลงทุนในบริษัท ที.เค.เอส. สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด
  2. ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ และระบบสารสนเทศ (IT Ecosystem) ผ่านการลงทุนในบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX
  3. ธุรกิจผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านวิธีอิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ (Fintech Ecosystem) ผ่านการลงทุนใน SABUY และ TBSP และ
  4. ธุรกิจผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ผ่านการลงทุนในบริษัท โกไฟว์ จำกัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 64)

Tags: , , ,