นางศิโรบล บุญถาวร ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสการเงินองค์กร บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทมองภาพรวมในปี 65 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะฟื้นตัวดีขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่ยังต้องจับตามองเรื่องของต้นทุนเชื้อเพลิง โดยคาดว่าในช่วงต้นปีหน้าราคาก๊าซธรรมชาติก็น่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนผลประกอบการในปี 65
ทั้งนี้ โครงการแบตเตอร์รี่กำลังการผลิตอยู่ที่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) จากการนำเทคโนโลยี Semi Solid ของบริษัท 24M Technologies จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทได้รับลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในประเทศและภูมิภาค คาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในปีหน้า ขณะนี้สามารถทดลองเดินเครื่องผลิตแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการผลิตต่างๆ เพื่อให้ผลิตได้ตรงตามมาตรฐานและต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์
ขณะเดียวกัน บริษัทรอโรงงานร่วมทุน Axxiva ในประเทศจีน ซึ่งป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังการผลิต 1Gwh ต่อปี (GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 11.1%) ก็มีแผนที่จะ COD ในปี 66 หากเดินเครื่องผลิตเรียบร้อยก็รอจังหวะดีมานด์ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดให้กับโรงงานของ GPSC ให้เติบโตเป็น Giga Scale ในประเทศไทยได้
บริษัทยังคงมองทุกโอกาสขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนในประเทศไทยก็จะสอดคล้องไปกับแผนพลังงานแห่งชาติ (PDP) ส่วนการลงทุนในเวียดนามก็จะมุ่งเน้นการเดินหน้าไปพร้อมกับกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งพิจารณาทั้งสองแบบ พลังงานรูปแบบเดิม และพลังงานทดแทน โดยบริษัทยังคงเป้าหมายที่จะผลักดันกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็น 7,102 เมกะวัตต์ในปี 66 จาก 4,750 เมกะวัตต์ในปี 63 โดยสัดส่วนพลังงานทดแทนจะเพิ่มเป็น 37% จาก 11%
บริษัทเตรียมเงินลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาทรองรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในแผนงาน อาทิ โครงการหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้าจากกากน้ำมัน Energy Recovery Unit (ERU) อยู่ระหว่างการทยอยการลงทุน แต่คาดว่าจะใส่เงินลงทุนในโครงการนี้จำนวนมากในช่วงปี 66 โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าลงทุนประมาณ 24,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ SPP Replacement คือ Glow Energy Phase 2 โดยได้มีการลงทุนไปแล้วบางส่วน คาดว่าจะ COD ในปีหน้า และโครงการ Glow SPP ในโครงการที่ 2 และ 3 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุน และยังไม่ได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย (FID) ทั้งนี้ เบื้องต้นได้ประเมินมูลค่าการลงทุนทั้ง 3 โครงการ หรือ จำนวน 6 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA ที่ 20,000-30,000 ล้านบาท และการรองรับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอีกราวปีละ 2,000 ล้านบาท และโอกาสการลงทุนที่จะเข้ามา
ด้านผลประกอบการในไตรมาส 4/64 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรในไตรมาส 4 แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีรายได้จากการเคลมประกันของการปิดโรงไฟฟ้า Glow Energy เฟส 5 เข้ามาชดเชย จึงทำให้ผลประกอบการของบริษัท น่าจะออกมาอยู่ในระดับที่คงที่
อนึ่ง บริษัทปิดโรงไฟฟ้า Glow Energy เฟสที่ 5 นอกกำหนดการตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.64 โดยเป็นโรงไฟฟ้า SPP ขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัท กำลังการผลิตไฟฟ้า 328 เมกะวัตต์ (MW) และกำลังการผลิตไอน้ำ 160 ตัน/ชั่วโมง คาดว่าโครงการ SPP นี้จะกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้งในเดือน ม.ค.65 ประเมินว่าจะทำให้กำไรของ GPSC ลดลง 5 ล้านบาท/วัน หรือ 450 ล้านบาท/ไตรมาส ซึ่งได้ทำประกันเอาไว้โดยมีค่าเสียหายส่วนแรก (deductible) 60 วัน บริษัทจะเคลมประกันความเสียหายในไตรมาส 4/64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 64)
Tags: GPSC, พลังงาน, ศิโรบล บุญถาวร, หุ้นไทย, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่, โรงไฟฟ้า