มติพรรคร่วมฝ่ายค้านเอกฉันท์ รับหลักการร่างรธน.ฉบับประชาชนวาระ 1

แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพท. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคพท. นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคพท. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคพท. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมแถลงผลการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมของรัฐสภาวันที่ 16 พ.ย. นี้ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าควรรับหลักการในวาระที่ 1 เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ที่ทำให้พรรคฝ่ายค้านรับหลักการมี 6 ประเด็น ได้แก่

1. ยกเลิกการปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 65 และยกเลิกการปฏิรูปประเทศ หมวด 16

2. ปรับโครงสร้างของระบบรัฐสภา จากเดิมมี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้เหลือสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร โดยยกเลิกหมวดรัฐสภา หมวด 7 ให้มีแต่สภาผู้แทนราษฎร

3. สร้างกลไกในการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของประชาชน ทั้งสร้างกลไกให้มีผู้ตรวจการของสภาผู้แทนราษฎร 3 คณะ เช่น ผู้ตรวจการด้านศาลทหาร ศาลรัฐธรรรมนูญ และองค์กรอิสระ

4. ปรับโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และที่มาขององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ

5. ยกเลิกการสืบทอดอำนาจการคงอยู่ ซึ่งเป็นอำนาจที่กระทำการยึดอำนาจทั้งก่อน ปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต ให้มีผลบังคับใช้โดยชอบในรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 48 รัฐธรรมนูญชั่วคราวเดิม ปี 57 และส่งผลต่อเนื่องถึงมาตรา 279 ในปัจจุบัน

6. การสร้างกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนฯในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพิ่มกลไกให้เข้มข้นขึ้นโดยการเพิ่มเสียงให้ความเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้กำหนดแนวทางการอภิปรายไว้ทั้งหมดใช้เวลา 18 ชั่วโมง และปล่อยเป็นอิสระให้แต่ละพรรคเน้นประเด็นที่สนใจ

นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พรรค ส.ส.ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสนอร่างกฎหมายโดยภาคประชาชน เนื่องจากต้องใช้เวลารวมรายชื่อหลายเดือน โดยให้เกียรติประชาชนโดยการรับหลักการในวาระ 1 ทั้งนี้ อาจมีความคิดเห็นต่างกันในวาระอื่นๆ ก็สามารถใช้โอกาสในวาระที่ 2 หรือชั้นการแปรญัตติแก้ไขประเด็นที่มีความคิดเห็นต่างกันได้

ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะที่เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีส.ว. หลายคนออกมาให้ความคิดเห็นเชิงบิดเบือนเนื้อหาสาระที่แท้จริงของร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชน โดยเฉพาะ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกมีการกล่าวหาว่า ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นร่างที่จะล้ม โล๊ะ เลิก ล้าง ระบบการตรวจสอบ แต่ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว ไม่ได้เห็นว่าร่างนี้จะไปล้ม โล๊ะ เลิก ล้าง ระบบการตรวจสอบ หรือถ่วงดุลแต่อย่างใด แต่จะยิ่งทำให้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดโยงกับประชาชนและถูกตรวจสอบได้ หากรัฐธรรมนูญออกมาระบบการตรวจสอบตามที่ภาคประชาชนเสนอมานั้น ก็จะทำให้องค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรตุลาการ รวมถึงกองทัพ จะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยประชาชนด้วยอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่สามารถใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนประเด็นที่สอง มีการโจมตีว่าร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน จะทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจไปที่สภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นคำกล่าวที่ผิด เพราะสาระสำคัญ คือ ทำให้อำนาจของประชาชน เป็นอำนาจที่สูงสุดสะท้อนผ่านรัฐสภา

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดอภิปราย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองที่เป็นวิกฤติ โดยจะมีข้อเสนอแนะต่อสภาฯ เพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหา และข้อเท็จจริงที่จะมีการนัดหมายการประชุม พร้อมกำหนดกรอบเวลาการอภิปรายในสัปดาห์หน้า

ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา เนื่องจากคำวินิจฉัยมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร หากผู้นำไปบังคับใช้ปฏิบัติมิชอบ หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็อาจจะสร้างความแตกแยกวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ขอให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติ ทั้งกับผู้ที่ชุมนุม หรือไล่ล่าที่จะยุบพรรค ควรปฏิบัติด้วยความชอบธรรม ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม

สำหรับเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 64 ที่ประชุมเป็นห่วงเรื่องการใช้ความรุนแรง ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธปืนจากการชุมนุมที่แยกปทุมวัน จึงขอตำหนิการกระทำดังกล่าว และขอเรียกร้องให้มุกฝ่ายใช้เวทีสภาเพื่อมาพูดคุยกัน โดยจะส่งเรื่องให้ กมธ.ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และกมธ.พัฒนาการเมือง เข้าไปศึกษา และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตนมองว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 1 อาจจะเป็นการปลดชนวนความความขัดแย้งก็เป็นได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 64)

Tags: , ,