นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นที่ชัดเจแนแล้วว่ากระทรวงการคลังไม่สามารถสนับสนุนวงเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านบาทให้กับบริษัทได้ แต่ก็ยังต้องการให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ทำให้ไม่ได้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการเดิมที่ศาลล้มละลายเห็นชอบ ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับแผนฟื้นฟูกิจการ
แต่การปรับแผนฟื้นฟูฯ เป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องรอคำตอบจากกระทรวงการคลังก่อนว่าต้องการเลือกวิธีใด เพราะหากกระทรวงการคลังไม่ทำอะไร ก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 8% จากเดิม 48% โดยแนวทางที่เป็นไปได้ เป็นการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งการบินไทยมีหนี้สินกับกระทรวงการคลัง 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งแนวทางนี้ก็ทำให้รัฐไม่ต้องออกเงิน และจะทำให้สัดส่วนหุ้นปรับขึ้นมาได้จากที่คาดว่าลดลงไปเหลือ 8% แต่คงไม่เท่ากับเดิมที่ 48% หรืออาจจะเป็นแนวทางซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยทั้งสองวิธีนี้รัฐไม่ใช้การให้เงินกู้
ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าฝ่ายรัฐจะให้คำตอบเร็วที่สุดปลายเดือน พ.ย.หรืออย่างช้าปลายปีนี้
“เราไปได้ถ้าไม่มีเงินกู้จากรัฐ แต่เราก็บอกว่าถ้ารัฐบาลไม่ต้องการช่วยอะไรเลย แล้วเราได้กู้จากเอกชน 2.5 หมื่นล้านบาท เขาก็ซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ราคา 2.54 บาท/หุ้น สัดส่วนของคลังก็จะลดลงเหลือ 8% ก็แล้วแต่การตัดสินใจของคลัง ถ้าเป็นไปได้อยากได้คำตอบปลายเดือนนี้ (พ.ย.) แต่ถ้าไม่สรุป เราก็ต้องเดินหน้า เรารอไม่ได้”นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่จะขอจากภาครัฐคือถ้าไม่เข้ามาช่วยเรื่องเงินกู้ ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวัง แต่ก็อยากให้รัฐช่วยคืนหนี้ที่มีกับการบินไทยประมาณ 5 พันล้านบาท เป็นหนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และเงินจากองทุนบำเหน็จบำนาญ
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและสายบัญชี THAI กล่าวว่า บริษัทได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยได้นำเสนอทางดังกล่าวให้พิจารณาแล้ว
ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟุกิจการ THAI กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้ชัดเจนหลังจากที่ค่าใช้จ่ายลงไปอย่างมาก รวมทั้งการปรับปรุงระบบบริหาร รวมทั้งตั้งแต่มีการเปิดประเทศก็มีการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น โดยในเดือน ต.ค.64 มีรายได้ 1,200 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ส่วนใหญ่ราว 90% มาจากบริการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ส่วนที่เหลือ 10% เป็นบริการขนส่งผู้โดยสาร และตั้งแต่เปิดประเทศในช่วง 10 กว่าวันในเดือน พ.ย.64 บริษัทให้บริการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มเป็น 750 คน/วัน จากก่อนหน้า 300 คน/วัน
และในปี 65 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นมาป็นมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากแผนการบินที่จะเพิ่มเส้นทางการบิน ยุโรป อเมริกา และหวังว่าจะเปิดเส้นทางเอเชีย เช่น จีน และประเทศในอินโดจีนได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่กลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินกว่า 30% จากที่เคยให้บริการในปี 62 หลังจากสถานการณ์โควิดในประเทศต่างๆดีขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนเงื่อนไขว่าจะไม่เกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายชดเชยให้พนักงานจะหมดในเดือน ก.ค.65 ก็จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้นได้
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในปี 66 เชื่อว่าการบินไทยจะกลับมามีกำไรแน่นอน โดยคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดแตะ 1 แสนล้านบาท และในปี 67 คาดว่ารายได้จะเพิ่มเป็นราว 1.4-1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี คงเทียบกับก่อนเกิดโควิดที่มีรายได้ 1.8 แสนล้านบาทไม่ได้ เพราะจำนวนเครื่องบินลดลงเหลือ 54 ลำ จากก่อนหน้ามีประมาณ 100 ลำ
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 64 บริษัทและบริษัทย่อย ขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท จาก 12,465 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 29,230 ล้านบาท ลดลง 66.1% ขณะที่ส่วนผู้ถือหุ้น ติดลบ 76,493 ล้านบาท ซึ่งลดลง จาก ณ 31 ธ.ค.63 ที่ติดลบ 1.2 แสนล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 64)
Tags: THAI, การบินไทย, ข่าวหุ้น, ชาย เอี่ยมศิริ, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์