สัมภาษณ์พิเศษ: IHL ผ่ากลยุทธ์กระจายธุรกิจพลิกโฉมสู่หุ้น “เทิร์นอะราวด์”

ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้กินระยะเวลาเกือบ 2 ปี ลุกลามพ่นพิษเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลกระทบสู่ภาคธุรกิจหลายอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับธุรกิจของ บมจ.อินเตอร์ไฮด์ (IHL) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังรายใหญ่สำหรับเบาะรถยนต์ ,หนังหุ้มเบาะรถยนต์ ,หัวเกียร์ ,พวงมาลัยรถยนต์ ,ชิ้นงานหนังตัดขึ้นรูป ,เฟอร์นิเจอร์ ,รองเท้า เป็นต้น

แม้ว่าจะเผชิญกับผลประกอบการขาดทุนเมื่อปี 2563 แต่ด้วยกลยุทธ์กระจายพอร์ตเข้าสู่หลายธุรกิจที่มุ่งเน้นศักยภาพทำกำไรที่ดี จนวันนี้ผู้บริหารเชื่อมั่นว่าแนวโน้มผลประกอบการของ IHL ในปี 2564 และต่อเนื่องถึงปี 2565 กลับเข้าสู่เส้นทาง “เทิร์นอะราวด์” พลิกกลับมามีกำไรเติบโตโดดเด่นอีกครั้งกลยุทธ์กระจายธุรกิจสู่แผนฝ่าวิกฤติโควิด-19

นายวศิน ดำรงสกุลวงษ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป IHL เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” โดยยอมรับว่าภาพรวมธุรกิจปี 2563 เมื่อทั่วโลกได้เผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องหยุดชะงักราว 2-3 เดือนช่วงกลางปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่หากเทียบกับปี 2564 แม้ว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงกว่า แต่ภาคธุรกิจต่างๆก็ได้วางแนวทางการรับมือและเตรียมตัวได้ดีขึ้น จึงไม่มีการหยุดชะงักการผลิต มีเพียงแต่ชะลอตัวในระยะหนึ่งเท่านั้น ทำให้ภาพรวมผลประกอบการปี 2564 จึงไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเหมือนในปีที่แล้ว

แนวทางการรับมือของ IHL แม้ว่าวันนี้ยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจยานยนต์เป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้รวม รองลงมา คือ ธุรกิจรองเท้า 15% แต่เนื่องด้วยแผนการแตกไลน์ผลิตตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้บริษัทมีลูกค้ารายหลักที่สั่งออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของพอร์ตธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ในสัดส่วน 10-15% ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่มีสัดส่วน 15% เช่นกัน และยังมีรายได้เสริมเข้ามาจากธุรกิจอาหารขบเคี้ยวสุนัขอีกราว 5% ที่มีศักยภาพทำกำไรที่ค่อนข้างสูง

“สัญญาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 แต่อาจยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากเปรียบเทียบคำสั่งซื้อในปัจจุบันคาดว่าอยู่ที่ราว 70-80% เมื่อเทียบกับคำสั่งซื้อช่วงก่อนโควิด-19 ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าของ IHL ประกอบด้วยลูกค้าค่ายรถยนต์รายใหญ่ เช่น Toyota Nissan และ Honda, อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และยังมีลูกค้าในธุรกิจรับจ้างฟอกหนัง เช่น Wolverine World Wide เป็นต้น

เราค่อนข้างโชคดี เพราะ IHL มีแผนแตกไลน์การผลิตมาสักพักแล้ว เพราะมองว่าถ้าพึ่งพาแค่ 1 สายธุรกิจ แม้จะมีลูกค้าหลายราย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงและมีการเจริญเติบโตค่อนช้างช้า ทำให้เราก็ต้องหาสายธุรกิจอื่นมารองรับบ้าง อย่างธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่เริ่มในช่วงโควิด-19 หรือ ธุรกิจอาหารคบเคี้ยวสุนัข ที่แม้จะเป็นสินค้ามูลค่าต่ำ แต่ว่ามีอัตรามาร์จิ้นสูง”

นายวศิน กล่าว

มุ่งพัฒนาเทคฯการผลิตหนุนศักยภาพกำไรระยะยาว

ในช่วงที่เผชิญกับปัญหาโควิด-19 บริษัทได้นำระบบ Automation เข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มอัตรากำลังการผลิต รวมไปถึงลดกำลังคน และได้นำนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน อย่าง Solar Rooftop เข้ามาลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง ส่งผลให้ธุรกิจมีศักยภาพทำกำไรที่ดีขึ้นระยะยาว เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาพรวมผลประกอบการปี 2564 พลิกกลับมามีกำไรจากปีก่อนที่ขาดทุน 44.31 ล้านบาท และด้วยแผนการปรับตัวได้ดี จึงคาดว่าศักยภาพการทำกำไรน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

“หนังเป็นวัตถุดิบที่สามารถประยุกต์ได้หลายอย่าง เราจึงต้องมีสินค้าหลายประเภทเพื่อไปขายให้ได้ทุกตลาด เพื่อใช้สิ่งที่เรามีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่สิ้นเปลืองและไม่เสียของ อีกอย่างคือเราต้องต่อยอดไปที่ขั้นตอนการตัดเย็บ ไม่ใช่แค่จำหน่ายหนังเพียงอย่างเดียว อย่างในธุรกิจยานยนต์ ลูกค้าก็มั่นใจในการตัดเย็บหนังของเราแล้ว ส่วนธุรกิจรองเท้าและเฟอร์นิเจอร์ก็กำลังจะให้บริการตัดเย็บในอนาคตต่อไป”

นายวศิน กล่าว

ลุ้นผลงานปี 65 ธุรกิจเติบโตเด่นชัด

นายวศิน กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 64 คณะกรรมการบริษัทเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปี 2563 ที่มองว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว เพราะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ตลอดทั้งปีท่ามกลางช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งแตกต่างกับปี 2564 ที่บริษัทสามารถทำงานได้เต็มตลอดปี ดังนั้น ยอดขายและกำไรจะต้องมากกว่าอย่างแน่นอน

และเมื่อมองข้ามไปถึงปี 2565 ประเมินแนวโน้มผลประกอบการน่าจะเติบโตโดดเด่นตามแผนการปูพรมขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน IHL มีลูกค้าธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมความแข็งแรงของพอร์ต เบื้องต้นน่าจะเห็นคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4/64

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการฟื้นตัวของบริษัทขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางธุรกิจ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมของสถานการณ์ทั่วโลกด้วย เพราะบริษัทมีสัดส่วนการส่งออกราว 40% ประกอบกับ ลูกค้าค่ายรถยนต์ของ IHL ก็มีการจำหน่ายไปยังหลายประเทศทั่วโลกด้วย ดังนั้นจึงยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่กรณีที่หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติตามคาด การเดินทาง การนำเสนอสินค้า หรือการติดต่อลูกค้าก็จะสะดวกและรวดเร็วขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อบริษัทเช่นกัน

“สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2563 มาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่เกิดจากการบริหารหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เกิดจากลูกค้ามีเหตุจำเป็นให้ต้องปิดตัวลงหรือภาครัฐสั่งให้ปิด ซึ่งเราก็คาดหวังให้เหตุการณ์แบบนั้นไม่เกิดขึ้นอีก และคิดว่าผลประกอบการในช่วงปี 2563 จะเป็นจุดต่ำที่สุดแล้ว ส่วนตอนนี้บริษัทวางแนวทางรับมือกับเหตุการณ์โควิด-19 ได้ดีมากขึ้น ผู้บริโภคก็เริ่มคลายความกังวลลง ทำให้การทำกำไรน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ช่วงปกติแล้ว”

นายวศิน กล่าว

นายวศิน กล่าวต่อว่า แผนระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า ธุรกิจหลักของ IHL ยังอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การเติบโตจะควบคู่ไปกับการกระจายพอร์ตในธุรกิจอื่นด้วยทั้งธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า ที่มองเห็นถึงการเติบโตจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ด้านธุรกิจอาหารขบเคี้ยวสุนัข แม้ยอดขายจะไม่สูงมาก แต่จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านศักยภาพทำกำไรได้ดี

ขณะที่บริษัทในเครืออย่างบริษัทลูก อินเตอร์ กรีน ที่ประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์รีไซเคิลก็คาดว่าจะพลิกมาทำกำไรได้ใน 3-5 ปีข้างหน้า ตามเทรนด์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคกำลังหันมาให้ความสำคัญในขณะนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 64)

Tags: , , ,