นายศุภกร ตุลยธัญ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัว “กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม ไทย ออพพอร์ทูนิตี้”หรือ Principal Vietnam Thai Opportunity Fund (PRINCIPAL VTOPP) ในวันที่ 10–17 พ.ย. 64 นี้ โดยกองทุน PRINCIPAL VTOPP มีนโยบายลงทุนโดยตรงในหุ้นเวียดนาม อีกทั้งขยายโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนามและได้รับประโยชน์จากการเติบโตไปกับเศรษฐกิจเวียดนาม
บริษัทได้วางกลยุทธ์การลงทุนตรงและเลือกหุ้นแบบ High Conviction ที่มีศักยภาพเป็นรายตัว เน้นสร้างผลตอบแทนแบบ Total Return รวมถึงมีความได้เปรียบในการวิเคราะห์หุ้นลงทุน โดยทีมบริหารกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทีมไทยและเวียดนาม รวมถึงระดับภูมิภาค เพื่อคัดเลือกธุรกิจและบริษัทที่มีศักยภาพดี โดยเฉพาะนักวิเคราะห์การลงทุนชาวเวียดนาม ทำให้เราได้ข้อมูลจริงและทันสถานการณ์ภายในประเทศ
“ด้วยกลยุทธ์การลงทุนของกองทุน PRINCIPAL VTOPP ในการลงทุนหุ้นคุณภาพเวียดนาม และการคัดเลือกหุ้นบริษัทชั้นนำระดับโลกและไทยที่มีการขยายการลงทุนในเวียดนามและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ประกอบกับจุดแข็งของประเทศเวียดนามที่มีเศรษฐกิจที่เติบโต มีศักยภาพการเป็นฐานการผลิตของโลก กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าต่อเนื่อง มีการเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) สะท้อนรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีและพร้อมที่จะกลับมาเปิดประเทศ ดังนั้น เราเชื่อว่า กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม ไทย ออพพอร์ทูนิตี้ (PRINCIPAL VTOPP) เป็นหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับนักลงทุนได้ในอนาคต”
นายศุภกร กล่าว
นายศุภกร กล่าวว่า เวียดนามถือเป็นประเทศที่น่าสนใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวจึงเป็นโอกาสการลงทุนภายใต้ธีมหลัก ได้แก่ 1. เวียดนามมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการลงทุนโดยตรงและได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำระดับโลก 2. การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ส่งผลให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นและสนับสนุนการบริโภคในภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ 3. ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสถูกนำไปคำนวณในดัชนี MSCI Emerging Markets ในอีก 5 ปีข้างหน้า
โอกาสการเติบโตของเวียดนามได้รับการสนับสนุนจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. GDP ที่จะเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้า 2. นโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 3. การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และ 4. การเพิ่มขึ้นของประชาชนชั้นกลาง
ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของโลกที่ได้รับประโยชน์จากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และดึงดูดความสนใจจากบริษัทต่างชาติด้วยข้อตกลงสิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่มีอยู่มาก เช่น CPTPP และ RCEP เป็นต้น รวมถึงมีแรงงานที่มีทักษะด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่งผลให้เวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ต่อ GDP ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และจีน เป็นต้น นอกจากนี้สัดส่วนภาคการผลิตต่อ GDP ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในอนาคต
ขณะที่รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเป็นลำดับแรกจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติของเวียดนาม (PDP) ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการผลิตพลังงานนับจากปี 63-68 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 13.2% โดยเน้นไปที่การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ด้านอัตราการจ้างงานในภาคการผลิตและบริการก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของสังคมเมืองอย่างรวดเร็วและกลายเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน มีสัดส่วนการบริโภคของภาคเอกชนต่อ GDP อยู่ที่ 68% สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน (รองจากฟิลิปปินส์ที่สัดส่วน 73% ต่อ GDP) จึงทำให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตอย่างรวดเร็วจากที่มีมูลค่าตลาดรวม 2.5 ล้านล้านบาทในปี 53 เป็น 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 63 และกำลังเปลี่ยนผ่านจากร้านค้าแบบดั้งเดิมสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ส่งผลให้เวียดนามมีโอกาสก้าวสู่เศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income)
“เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มี GDP เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่น่าจับตามอง โดยมีบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมไฮเทคเข้าไปลงทุนหลายราย อาทิ LG, Panasonic, FOXCONN, Samsung Electronics, Hoya ฯลฯ และมีผู้ประกอบการไทยที่ขยายการลงทุนไปในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง”
นายศุภกร กล่าว
นอกจากหุ้นเวียดนามที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงปีที่ผ่านมา ยังมองเห็นโอกาสการลงทุนในบริษัทระดับโลก เอเชียและไทยที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม จะได้รับประโยชน์จาก FDI และสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุนหลายๆ ด้านจากภาครัฐ ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการต้นทุนที่ต่ำ และการขยายกิจการให้เติบโต โดยบริษัทเหล่านี้ได้เริ่มเข้าไปลงทุนและขยายธุรกิจการดำเนินงานมากว่า 10 ปี และเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Samsung Electronics หนึ่งในผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีฐานการผลิตหลักด้านอุปกรณ์และโทรศัพท์มือถืออยู่ในเวียดนาม
โดยเตรียมกลับมาผลิตอย่างเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน 64 และเตรียมที่จะผลิตชิปให้กับเทสล่า, Hoya บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกที่มีกำลังการผลิตสินค้าในเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 17% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ในขณะที่ยังมีบริษัทสัญชาติไทยที่ขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เช่น เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร, บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ที่มีสัดส่วนรายได้จากเวียดนามคิดเป็น 12% ของยอดขายในปีที่ผ่านมา, บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ ที่กำลังดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งที่ 2 ในเวียดนาม เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 64)
Tags: IPO, กองทุนเปิด, บลจ.พรินซิเพิล, ศุภกร ตุลยธัญ, เวียดนาม