นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 5/2564 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (66 – 70) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป และนำไปสู่แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยร่างแผนส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) หมุดหมายที่ 7 ไทยมี SME ที่เข้มแข็งมีศักภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมตรี ที่ให้ความสำคัญกับการจัดกลุ่ม SME ตามศักยภาพ/ปัญหา (กำหนด Segment) เพื่อให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่ม Startup กลุ่มที่รายได้พออยู่ได้ ยังสามารถจ้างงานได้อยู่ / กลุ่มที่เข้มแข็งและมีรายได้ดีอยู่ / กลุ่มที่ขาดทุนต่อเนื่อง มีหนี้สิน (ไม่ใช่จากสถานการณ์โควิด-19) / กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่ขายได้ไปเรื่อย ๆ เช่น ธุรกิจในครัวเรือน ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ และเกษตรกรปรับไปสู่ธุรกิจ ตลอดจนให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
แผนดังกล่าวยังมุ่งเน้นเร่งฟื้นฟู SME ที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ช่วยทุกกลุ่ม SME ทุกรายมีส่วนร่วมของการเติบโต ขยับขนาดการเติบโตของธุรกิจ ยกระดับกลุ่มศักยภาพสู่สากล และเน้นช่วย SME ในระบบ ควบคู่จูงใจ SME ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาในระบบด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะให้เน้นปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงินและธนาคารที่ให้การสนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อผู้ประกอบการ SME ให้เป็นปัจจุบันเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาบริหารดำเนินการในการช่วยเหลือ SME ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสามารถฟื้นฟูธุรกิจ SME ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 และนำไปต่อยอดธุรกิจรับการเปลี่ยนแปลงก้าวสู่ชีวิติวิถีใหม่อย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาลด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 64)
Tags: SME, ธนกร วังบุญคงชนะ, ผู้ประกอบการ, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม