สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยถึง มุมมองของนักวิเคราะห์ฯ ที่มีต่อหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 3 (T3) ว่า จากการติดตามภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมนักวิเคราะห์ฯ มีข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา มีหลักทรัพย์จำนวนหนึ่งที่มีราคาซื้อขายพุ่งทะยานขึ้นหลายเท่าตัว โดยไม่สอดคล้องกับผลดำเนินงานที่ประกาศแล้ว กระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ดำเนินมาตรการด้านการซื้อขาย T1 T2 และ T3 ตามลำดับของความไม่สอดคล้องกับผลดำเนินงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันอาจจะเกิดต่อนักลงทุน และระบบโดยรวมของตลาด โดยกลุ่มหุ้นในระดับ T3 เป็นกลุ่มที่ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนมีความห่วงว่าผู้ลงทุนรายย่อยจะมีข้อมูลสำคัญและข้อมูลจากการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนหรือไม่
ทางสมาคมนักวิเคราะห์ฯ จึงได้ทำการสำรวจข้อเท็จจริงและความเห็นจากสมาชิกนักวิเคราะห์การลงทุน เกี่ยวกับหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม T3 (ณ วันที่ทำการสำรวจ 18-21 ต.ค.64 โดยได้รับข้อมูลตอบกลับจาก 26 สำนักวิจัย)
ผลการสำรวจ สมาคมฯพบว่า 81% ของทีมวิจัย ไม่ทำการติดตามหุ้นในรายชื่อ T3 เลย อีก 19% ของทีมวิจัยมีการติดตามข้อมูลข่าวและข้อมูลผลการดำเนินงานที่ประกาศ โดยมี 15% ของทีมวิจัย (4 ทีม) ที่มีการตอบคำถามด้วยวาจาต่อ IC และ นักลงทุน เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนและความเสี่ยง แต่ไม่มีทีมวิจัยใดเลยที่เขียนบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน หรือ การเขียน Comment ทางปัจจัยพื้นฐานต่อท้ายข่าว
สมาคมฯยังได้สอบถามถึงเหตุผลของทีมวิจัยที่ไม่ได้มีการจัดทำบทวิเคราะห์ พบว่า ประกอบด้วยหลายสาเหตุ เรียงลำดับตามที่ตอบมามากที่สุด คือ
- ไม่มี Demand มาจาก IC และนักลงทุนของบริษัท มีทีมวิจัยที่เลือกตอบข้อนี้ 50%
- นักวิเคราะห์เห็นว่าระดับราคาแพงเกินไป จนกระทั่งแผนงานวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัทแสดงก็ไม่สามารถมารองรับระดับราคาได้ นักวิเคราะห์ไม่ต้องการเขียน Initaial Report โดยการแนะนำขาย มีทีมวิจัยที่เลือกตอบข้อนี้ 42%
- หุ้นกลุ่มดังกล่าว มีข้อมูลที่เผยแพร่น้อย และมีทีมวิจัยที่เลือกตอบข้อนี้ 39%
- หุ้นดังกล่าว ไม่มาให้ข้อมูลใน OPP Day มีทีมวิจัยที่เลือกตอบข้อนี้ 31%
- นักวิเคราะห์ไม่สามารถติดต่อสัมภาษณ์ หรือขอรับข้อมูลเพิ่มเติม จากบริษัทหุ้น T3 ที่จัดให้เฉพาะนักวิเคราะห์ มีทีมวิจัยที่เลือกตอบข้อนี้ 27%
- ไม่มั่นใจว่าธุรกิจใหม่ๆ หรือวิสัยทัศน์ใหม่ที่บริษัทหุ้น T3 จะประสบความสำเร็จ มีทีมวิจัยที่เลือกตอบข้อนี้ 19%
คำตอบดังกล่าวจากการ Survey ครั้งนี้ ยืนยันได้ถึงการขาดแคลนเป็นอย่างมากของข้อมูลวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานหุ้นในรายชื่อ T3 ทั้งๆที่หุ้นในกลุ่มนี้ มีผลดำเนินงานที่ประกาศไปแล้วไม่สอดคล้องกับระดับราคาหุ้น ดังนั้น การที่ผู้ลงทุนจะเข้าลงทุนหุ้นในกลุ่ม T3 นี้ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินวิสัยทัศน์ และต้องวิเคราะห์อนาคตในประเด็นการทำธุรกิจใหม่ๆของบริษัทเหล่านี้ สมาคมฯมองว่าน่าจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้ลงทุนรายย่อยโดยทั่วไปที่จะวิเคราะห์คาดการณ์ได้อย่างมั่นใจ และสมาคมฯเห็นว่าหลักทรัพย์ในกลุ่มรายชื่อนี้มีความเสี่ยงมากกว่าระดับโดยเฉลี่ยของหลักทรัพย์ปกติในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดบทวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน ทางสมาคมฯได้สอบถามทีมวิจัยถึงความต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมฯสนับสนุนด้านใดบ้าง ได้รับคำตอบว่า ต้องการให้ช่วยประสานงานให้บริษัทกลุ่ม T3 ทำการจัด Analyst meeting โดยมีผู้ตอบประเด็นนี้ถึง 69%
และมีทีมวิจัย 31% ที่ต้องการให้จัดหลักสูตรอบรมเทคนิคในการวิเคราะห์หุ้นที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ แก่นักวิเคราะห์ฯ โดยเชิญนักวิเคราะห์อาวุโสที่มีประสบการณ์เห็นหุ้นที่มีความหวือหวาและเสี่ยงสูงมาหลายสิบปี เป็นผู้บรรยาย มีทีมวิจัยประมาณ 12% ที่เสนอให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ส่วนข้อเสนออื่นๆที่ทีมวิจัยกล่าวถึงอีก ได้แก่ อยากให้ทางตลาดหลักทรัพย์บอกถึงหลักเกณฑ์การขึ้นเครื่องหมาย T1-T3 ที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นต้น
ปัจจุบัน หลักทรัพย์ที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ3 (T3) บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯต้องดำเนินการดังนี้
- ให้ผู้ลงทุนทุกประเภทที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ ต้องวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ
- บริษัทสมาชิกห้ามนำหลักทรัพย์ ที่อยู่ในรายชื่อ T3 คำนวณเป็นวงเงินในการซื้อขายในทุกประเภทบัญชี
- บริษัทสมาชิกห้ามหักกลบค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ ที่อยู่ในรายชื่อ T3 ในวันเดียวกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ย. 64)
Tags: IAA, สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน, หุ้นไทย