นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.33 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 33.20 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือน ก.ย. ของสหรัฐที่ออกมาสูง
“บาทอ่อนค่าจากเย็นวันศุกร์ เนื่องจากดอลลาร์มีปัจจัยหนุนให้แข็งค่า”
นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.20 – 33.40 บาท/ดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางของเงินทุนต่างประเทศจากผู้นำเข้าทองคำ และช่วงกลางสัปดาห์จะมีการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะมีการประกาศลดวงเงิน QE และจับตาดูการส่งสัญญาณเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย ส่วนกรณีที่มีการเปิดประเทศนั้นตลาดตอบรับไปบ้างแล้วพอสมควร
THAI BAHT FIX 3M (29 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.33682% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.37034%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ 114.06 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 113.68 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ 1.1556 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1649 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.184 บาท/ดอลลาร์
- นายกรัฐมนตรี มอบหมายทุกภาคส่วนราชการจัดเตรียมมาตรการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ หลังการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย 1 พ.ย.
- “บัวแก้ว” เผยไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวเปิดประเทศเพิ่มจาก 46 เป็น 63 ประเทศ/พื้นที่ เข้าไทยโดยไม่ต้องกักตัว 1 พ.ย.นี้ “บิ๊กตู่” มอบ “สธ.-คค.” ตรวจความพร้อม “สนามบิน” รองรับเปิด ปท.วันนี้
- สศช.มั่นใจเปิดประเทศ ดันเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายฟื้น นักวิชาการชี้สร้างรายได้ 5 หมื่นล้าน 2 เดือนสุดท้าย แนะกระตุ้นบริโภคในประเทศ “หอการค้า” หวังแรงส่งท่องเที่ยวปีหน้าดีขึ้น ด้าน “ศุภวุฒิ” มองเปิดประเทศหนุนเศรษฐกิจสกัดจีดีพีร่วง “กรุงไทย” ชี้แม้เสี่ยงโควิดกลับมาระบาด แต่เตรียมพร้อมจีดีพีกลับฟื้นตัวเร็วปีหน้า “กรุงศรี” มองมีโจทย์ที่ท้าทายและต้องติดตาม
- ส.อ.ท.หวังเปิดประเทศ 1 พ.ย. รับต่างชาติท่องเที่ยวช่วยเป็นแรงหนุนขับเคลื่อน ศก. โค้งสุดท้ายปี 64 ชี้หากไม่มีการกลับมา ระบาดใหม่ ศก.ไทยปี 65 จะขยายตัวแรง แนะปิดจุดเสี่ยง “แรงงาน” เถื่อนทะลักเข้าตามชายแดน หนุนทำพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ แก้เบ็ดเสร็จ
- “หอการค้าไทย” แนะรัฐนำเงินงบประมาณ 1 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้าน เชื่อเปิดประเทศไม่กลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ
- รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ได้รับทราบการที่ประเทศไทยยื่นให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ต่อชาติสมาชิก เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่จะยื่นช่วงเดือน พ.ย.64 ทำให้มั่นใจว่าความตกลงจะมีผลบังคับได้ในวันที่ 1 ม.ค.65 ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้
- รมช.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังเร่งวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจนอยู่ โดยแนวทางการเยียวยาเบื้องต้นจะเน้นการช่วยลดค่าครองชีพ และไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อให้คนเข้ามาฝึกอบรม หรือมาทำงานแลกกับถือบัตรสวัสดิการฯ แต่อย่างใดเพราะบัตรสวัสดิการฯ เป็นบัตรที่เน้นการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ไม่ได้เกี่ยวกับการฝึกงาน หรือจ้างงาน
- รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความต้องการสินเชื่อครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 64 มีแนวโน้มขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโควิด ทำให้ครัวเรือนมีความต้องการขอสินเชื่อทั้งเช่าซื้อรถยนต์และที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดที่ปรับดีขึ้นจากการส่งเสริมการขาย เช่น จัดโปรโมชั่น โดยสถาบันการเงินยังมองว่าครัวเรือนบางกลุ่มจะยังระมัดระวังการใช้จ่ายเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. แต่ชะลอตัวจากระดับ 1.0% ในเดือนส.ค. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคล ลดลง 1.0% ในเดือนก.ย.
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไป พุ่งขึ้น 4.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2534 โดยดัชนี PCE ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐาน เพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนก.ย. สอดคล้องกับเดือนส.ค.
- ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 71.7 ในเดือนต.ค. จากระดับ 72.8 ในเดือนก.ย.
- ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จะเดินทางเยือนญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และอินเดียในช่วงครึ่งหลังของเดือนพ.ย. เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้า
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนต.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ย. และ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนต.ค. ของจีน ยูโรโซน อังกฤษด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 64)
Tags: ค่าเงิน, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน