IPOInsight: PIN ผ่าขุมทรัพย์หุ้นนิคมฯชูสตอรี่ทุนนอก “Come Back”

บมจ.ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค (PIN) เป็นอีกหนึ่งหุ้นน้องใหม่ เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ล่าสุดสรุปราคาเสนอขายหุ้นสามัญพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคาหุ้นละ 3.90 บาท เพื่อให้ผู้ลงทุนที่สนใจเข้าจับจองร่วมลงทุนไปพร้อมกับการเติบโตของบริษัทในอนาคต โดยมีกำหนดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก 9 พ.ย.นี้

สำหรับภาพรวมธุรกิจของ PIN เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในภาคตะวันออก มีทำเลที่ตั้งของนิคมฯครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ สอดรับไปกับนโยบายของภาครัฐที่กำลังเร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีเป้าหมายใช้เป็นฐานการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างแดนอีกมากมาย นับเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลเดินหน้าภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศผ่อนคลาย เพื่อรองรับต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับการแข่งขันของประเทศในอนาคต

และด้วยความโดดเด่นด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ล่าสุดวางแนวทางนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นแกนหลักต่อยอดยกระดับนิคมอุตสาหกรรมให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart City) และยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงินลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมที่ทันสมัยตอบโจทย์กับการสร้างโอกาสเติบโตของผลประกอบการระยะยาว

ผ่าขุมทรัพย์นิคมฯ “ปิ่นทอง” รายใหญ่โซนภาคตะวันออก

นายพีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PIN เปิดกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญดำเนินธุรกิจพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์มานานกว่า 25 ปี ประกอบธุรกิจหลักคือนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองและโครงการ Logistics Park ที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 6 โครงการ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 1 (PIN1) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (แหลมฉบัง) (PIN2) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 3 (PIN3) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 4 (PIN4) ,นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 5 (PIN5) และโครงการ Logistics Park อีก 1 โครงการ คือ โครงการปิ่นทองแลนด์ (PL) โดยมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้วกว่า 7,500 ไร่

“จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1-5 เราตั้งในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นทำเลทองอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือที่สามารถรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เป็นจำนวนมากอันดับต้นๆ ของภาคภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับเป็นทำเลทองที่มีศักยภาพสูง เพราะอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจได้รับการส่งเสริมจากนโยบายพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นมาตรการของรัฐบาลที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถของประเทศระยะยาว”นายพีระ กล่าว

ดีเดย์ขายที่ดิน PIN6 กว่า 1,300 ไร่ปลายปี 64

นายพีระ กล่าวต่อว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 (PIN6) พื้นที่โครงการประมาณ 1,322 ไร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง คาดว่าจะเปิดขายที่ดินเชิงพาณิชย์ภายในเดือน ธ.ค.นี้ นับเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพสูงรองรับฐานลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (S-Curve) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เพราะตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด ,สนามบินอู่ตะเภา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในอนาคต

ประกอบกับจุดเด่นด้านแนวคิดการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Industrial Town) และแผนมุ่งยกระดับโครงการนิคมอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เพื่อเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในไทยและภูมิภาค

เข้าตลาดหุ้นชู Logistics Park แม่เหล็กดึงทุนนอก

นายพีระ กล่าวว่า การระดมทุนเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ เบื้องต้นบริษัทวางแผนการเงินทุนไปพัฒนาโครงการ “Logistics Park” แห่งใหม่ โดยพัฒนาที่ดินและสร้างอาคารโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า บนพื้นที่ของโครงการที่ประกอบด้วยเขตปลอดอากร (Free Zone) และเขตทั่วไป (General Zone) คาดว่าจะเริ่มพัฒนาโครงการได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2565 เพื่อผลักดันโครงสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) เติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน Recurring Income ประมาณ 20-30% ของรายได้รวม และเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเช่าโรงงานหรือคลังสินค้า และการให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ

และเงินทุนอีกบางส่วนจะนำไปใช้ขยายระบบการบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมและที่เหลือก็นำไปใช้ชำระเงินกู้บางส่วน

ขณะเดียวกัน บริษัทมีระยะยาวภายใน 3-5 ปีข้างหน้าต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำมากขึ้นขยายเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงระยะยาว

“อนาคตของแผนการพัฒนาโครงการ “Logistics Park” แห่งใหม่ที่มีความโดเด่นของทำเล Free Zone เราเชื่อมั่นว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าที่มีสัญญาเช่าระยะยาว โดยเฉพาะผู้ลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก-นำเข้าสินค้า”นายพีระ กล่าว

เสน่ห์ไทยดึงทุนนอก “จีน-ญี่ปุ่น” เล็งตั้งฐานผลิตเพียบ

นายพีระ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเติบโตโดดเด่นมากกว่าผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาใช้ไทยเป็นการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นสัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นฐานลูกค้าหลักมีสัดส่วนมากกว่า 70% และที่เหลือเป็นสัญชาติจีนสัดส่วน 10-15%

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่สัญชาติจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของทางการจีน รวมถึงล่าสุดเกิดปัญหาขาดแคลนพลังงาน นับเป็นหนึ่งตัวแปรหลักผลักดันให้ผู้ประกอบการจีนต้องเร่งย้ายฐานการผลิต ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งประเทศที่อยู่ในเป้าหมายการเข้ามาลงทุนในรอบนี้

และนอกเหนือจากผู้ประกอบการสัญชาติจีนที่ส่งสัญญาณเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นก็เริ่มส่งสัญญาณขยายการลงทุนออกมาในไทยมากขึ้นเช่นกัน ภายหลังจากเศรษฐกิจเริ่มนิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของการเมือง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้นายฟูมิโอะ คิชิดะ ประกาศเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

แม้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจะไม่เติบโต แต่โครงสร้างของบริษัทต่างๆ ยังมีความแข็งแกร่ง ดังนั้น หากภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มดีขึ้นจะเป็นปัจจัยเร่งดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“วันนี้ประเทศไทยมีเสน่ห์มากในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้เป็นฐานการผลิต ที่นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีความเอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจแล้ว กฎหมายด้านการถือครองโฉนดของต่างชาติก็ยังเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง เพราะมีสิทธิการเป็นเจ้าของเหมือนกับคนไทย ไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่กฎหมายให้ต่างชาติเช่าที่ดินเท่านั้น และค่าครองชีพไม่สูงและอาหารการกินที่สมบูรณ์ และยิ่งสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในประเทศกำลังดีขึ้นเป็นลำดับและรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ ในมุมมองของผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เป็นสิ่งที่รอกันมานาน”นายพีระ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,