นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน 2564 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน 2564 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น อาทิ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ในประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ที่ทยอยฟื้นตัว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง
– ภาคตะวันออก
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ในประเทศ และดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า ในขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ แม้จะชะลอตัวลง -7.3% และ -9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 18.3% และ 40.6% ตามลำดับ
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ที่ 1.6% และ 32.9% ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -30.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลนอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.2 และ 101.9 ตาม
– ภาคใต้
เศรษฐกิจภาคใต้เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ในประเทศ และดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า ในขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ แม้ว่าชะลอตัวลง -8.3% และ -15.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 38.0 และ 77.8 ตามลำดับ
– กทม. และปริมณฑล
เศรษฐกิจกทม. และปริมณฑลทรงตัว และเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.1% แต่ชะลอตัวลง -1.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้า ด้วยจำนวนเงินทุน 4,050.67 ล้านบาท จากโรงงานตัด พับ ม้วน ขึ้นรูปแผ่นโลหะในจังหวัดสมุทรสาคร และโรงงานผลิตส่วนผสมอาหารสัตว์ในจังหวัดสมุทรปราการเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า ที่ 59.8% และ 46.8% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39.5 และ 78.2 ตามลำดับ
– ภาคตะวันตก
เศรษฐกิจภาคตะวันตกทรงตัวและเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น จากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -27.2% และ -20.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 5.0% และ 9.7% ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวลง -0.8% และ -3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือนก่อนหน้า
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าที่ 38.2% และ 47.4% ตามลำดับ ในด้านรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลงร้อยละ -17.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 0.2% นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40.4 และ 78.2 ตามลำดับ
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือทรงตัวและเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น จากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัว -1.7% และ -24.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัว -1.45 และ -8.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -23.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 11.4%
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า ที่ 807.7% และ 387% ตามลำดับ ด้วยจำนวนเงินทุน 1,591.06 ล้านบาท จากโรงงานทำยางแท่งเอสทีอาร์ 20 ในจังหวัดยโสธร และโรงงานให้บริการคัดคุณภาพลดความชื้น และปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ในจังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้านอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.8 และ 71.3 ตามลำดับ
– ภาคกลาง
เศรษฐกิจภาคกลางชะลอตัวลง แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -22.2% และ -13.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -15.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 19.9% นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่นพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 40.4 และ 78.2 ตามลำดับ
– ภาคเหนือ
เศรษฐกิจภาคเหนือชะลอตัวลง แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2564 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลง -12.8% และ -27.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้า
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวลงที่ -5.4% และ -71.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 5.2% และ 60.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 44.7 และ 57.2 ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 64)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค, พิสิทธิ์ พัวพันธ์, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจภูมิภาค, เศรษฐกิจไทย