นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์น เทรด ไตรมาส 3/64 ที่สำรวจผู้ประกอบการ 111 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 18 ก.ย.- 8 ต.ค.64 พบว่าดัชนีปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในรอบ 2 ไตรมาส โดยดัชนีรวมอยู่ที่ 47.9 ดัชนีในปัจจุบันอยู่ที่ 47.1 และดัชนีในอนาคตอยู่ที่ 48.7 เนื่องจากปลายไตรมาส 3 รัฐบาลได้ทยอยคลายล็อกมาตรการต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการมองว่า ธุรกิจค้าปลีกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีโมเดิร์นเทรดดีขึ้น มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3, ยิ่งใช้ยิ่งได้, เรารักกัน, ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์, สมุย พลัส โมเดล รวมถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมที่ผ่อนคลายให้ธุรกิจโมเดิร์นเทรด เปิดได้ตามเวลาที่กำหนด
“ไตรมาส 3 เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทย และเป็นจุดต่ำสุดของโมเดิร์นเทรด แต่คาดว่าจะดีขึ้นในไตรมาส 4 จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ การเปิดประเทศ โควิดดีขึ้น แต่สัญญาณการฟื้นยังไม่โดดเด่น เพราะผู้ประกอบการระบุว่ายอดขายยังนิ่ง ๆ กำไรยังไม่ดี อีกทั้งยังกังวลในเรื่องของต้นทุนที่ราคาสูงขึ้น จึงจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากการที่รัฐบาลเติมเงินคนละครึ่งเฟส 3 ให้ประชาชนอีกคนละ 1,500 บาท รวมเป็น 3,000 บาท จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีก 45,000 ล้านบาท เมื่อบวกกับเงินของประชาชนอีก 45,000 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมเกือบ 100,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ให้ขยายตัวได้ 2%
ส่วนเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ เดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000-25,000 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 200,000-500,000 คน ทำให้จีดีพีไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นได้อีก 0.3-0.5% เมื่อรวมกันแล้วทำให้จีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 3-4% และทั้งปี 64 มีโอกาสเติบโตได้ 1-1.5%
สำหรับข้อเสนอแนะที่ภาคค้าปลีกต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาคือ การเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด รองรับแผนการเปิดประเทศ, ออกมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงมาตรการลดภาษีจากค่าใช้จ่ายในการป้องกันโควิด-19, รัฐบาลควรมีแผนป้องกันและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจในการเปิดประเทศ
ด้านน.ส.ชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซนทรัล จำกัด และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกและบริการ สภาหอการหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้มีการคลายล็อกกิจการ แต่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร แม้ว่า โครงการ “คนละครึ่ง” “ยิ่งใช้ยิ่งได้” “เราเที่ยวด้วยกัน” “ทัวร์เที่ยวไทย” จะเริ่มเข้ามาเป็นปัจจัยบวกช่วยเหลือโมเดิร์นเทรด หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศ 70% ภายในปี 64 จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุน ทำให้โมเดิร์นเทรดกลับมาเปิดให้บริการได้ปกติ
“ภาคธุรกิจโมเดิร์นเทรด ต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ โดยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน และช่วยเหลือลูกจ้างหรือการช่วยเหลือร้านค้าในศูนย์การค้า และรายจ่ายในการฟื้นฟูสภาพร้านค้า หลังจากปิดกิจการเป็นเวลานาน หักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้เพิ่มเติมจากปกติ การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ขอให้รัฐเร่งแก้ไขเกณฑ์การปล่อยห้สินเชื่อซอฟท์โลน ซึ่งปัจจุบันมีวงเงินเหลือ 50,000 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ยังไม่สามารถกู้เงินได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบต่างๆ”
น.ส.ชลิดา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 64)
Tags: lifestyle, Modern Trade, ชลิดา จันทร์สิริพงศ์, ดัชนีโมเดิร์นเทรด, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย, โมเดิร์นเทรด