ที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) วันนี้มีมติอนุมัติในหลักการให้บริษัทจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ บริษัท ธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ วินด์ถือหุ้น 100% เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหุ้นของ WEH คืน ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 52.08% ต่อ 47.61% โดย ธนาฯ ไม่ได้จำกัดเพียงการทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัทเท่านั้น แต่สามารถลงทุนในกิจการอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศด้วย
นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WEH กล่าวว่า กรอบการลงทุนของ ธนาฯ มาจากความเป็นไปได้ที่หุ้น WEH จัดเป็นหนึ่งในหุ้นที่น่าลงทุนในราคาที่เหมาะสม เนื่องจาก วินด์ฯ มีผลประกอบการแข็งแกร่ง สามารถให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดย WEH จะจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับ ธนาฯ เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหุ้น WEH รวมถึงการเข้าทำธุรกรรมอื่น
“วินด์ฯ มองการลงทุนธนาฯ เป็นการลงทุน ส่วนจะเลือกซื้อหุ้นวินด์จากใครนั้นไม่ได้เจาะจงว่าจะซื้อจากใครเป็นพิเศษ เพียงแต่เรามองว่าหุ้นวินด์เป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ส่วนครอบครัวนายประเดช (กิตติอิสรานนท์) แจ้งมาแล้วว่าไม่มีความประสงค์จะขายหุ้นออก”
นายณัฐพศิน กล่าว
ทั้งนี้ ธนาฯ จะเพิ่มทุนจากปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท โดยจะเรียกชำระทุนจดทะเบียนเมื่อมีโครงการที่จะเข้าไปลงทุน แต่ไม่ได้ระบุเวลาว่าจะเพิ่มทุนเมื่อใด
ในระหว่างการประชุมวันนี้ ผู้ถือหุ้นได้สอบถามถึงแผนงานการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ WEH เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะขัดกับประกาศหรือข้อกำหนดการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ห้ามถือหุ้นไขว้ ซึ่งทีมผู้บริหาร WEH ย้ำว่าเจตนารมย์หลักของการจัดตั้งบริษัท ธนาฯ ไม่ได้เพียงเพื่อซื้อหุ้น WEH คืน แต่เพื่อการรองรับการเติบโตของบริษัทด้วย แต่ถ้าสุดท้ายต้องทำเทนเดอร์เพื่อซื้อหุ้น WEH ทั้งหมด ที่ปรึกษาการเงินก็ระบุว่าสามารถทำได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น WEH ยังได้มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าทำสัญญากู้ยืมเงิน หรือออกตราสารหนี้ ซึ่งการกู้ยิมเงินสามารถทำกับสถาบันการเงินอื่นแทนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 52.5% ต่อ 47.41%
นางบุษกร กอดำรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค.64 บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าประมาณ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ อายุ 10 ปี ทั้งนี้ คาดว่าผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ในที่สุดยังไม่สามารถดำเนินการได้
โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย Fitch Rating และ Moody’s ที่ BBB-(Investment Graded Rating) และ Ba1 ตามลำดับ ซึ่งมีการตรวจรับเอกสารโดยที่ปรึกษา Allen & Gledhill LLP เพื่อออกจำหน่ายหุ้นกู้ที่ Singapore Exchange ทั้งนี้หนังสือชี้ชวนอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายละเอียดขั้นสุดท้ายโดยที่ปรึกษาทางกฎหมาย แต่เมื่อเดือนมิ.ย.64 มีผู้ถือหุ้นบางรายส่งหนังสือ Demand to cease for the unlawful act ไปยังธนาคารพาณิชย์ที่เป็น FA เพื่อคัดค้าน ทำให้การดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนต้องหยุดชะงักลง และสร้างความเสียหายให้แก่บริษัท
อนึ่ง ก่อนหน้านั้นบริษัทก็ไม่ประสบความสำเร็จการออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท โดยเมื่อเดือน ธ.ค.63 บริษัทได้ออกหุ้นกู้สกุลบาท ซึ่งระดมทุนได้เพียง 394 ล้านบาท จากวงเงินเสนอขาย 2,000 ล้านบาท
ดังนั้น ทางผู้บริหารจึงขอให้ผู้ถือหุ้นร่วมกันตัดสินใจกำหนดทิศทางของบริษัทในครั้งนี้ ให้บริษัทสามารถทำสัญญากู้ยืมเงินหรือออกหุ้นกู้กับสถาบันการเงินหรือธนาคารอื่นแทน SCB ที่มีข้อจำกัดมาก ทำให้การดำเนินธุรกิจไม่ค่อยราบรื่น ส่วนหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น เรื่องค่าเงินมีเปลี่ยนแปลงก็ได้คำนึงถึงข้อนี้และจะทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ต้นทุนการเงินจะต่ำกว่าเงินกู้จาก SCB
นายณัฐพศิน กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารต่างประเทศ 2 แห่งที่จะออกหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเป็นหุ้นกู้อายุ 10 ปี เพื่อนำไปรีไฟแนนซ์และนำไปใช้ลงทุนในโครงการหลักอีก 5 แห่ง
นอกจากนั้น ในระหว่างการประชุม ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งได้สอบถามถึงคดีความที่อดีตผู้ถือหุ้นได้ฟ้องร้องนายณพ ณรงค์เดช อดีตกรรมการและผู้บริหาร รวมถึงอดีตกรรมการและผู้บริหารอีก 3 คนที่ศาลอังกฤษ ซึ่งบุคคลทั้ง 4 ได้ให้บริษัทออกหนังสือสัญญาว่าหากเกิดความเสียหายจากคดีดังกล่าวทาง WEH ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งค่าทนายและการชดใช้ความเสียหายทั้งหมด
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้เป็นคู่ความของคดี แต่กลับพบว่ามีการทำสัญญาให้บริษัทร่วมชดใช้เพื่ออดีตกรรมการและอดีตผู้บริหาร ซึ่งได้มีจดหมายจากทนายโจกท์ก็ส่งเข้ามาชี้แจงเรื่องนี้ด้วย
สำหรับประเด็นที่บริษัทต้องร่วมชดใช้ความเสียหายหรือไม่นั้น ผู้บริหาร WEH ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้มีอดีตกรรมการเข้าทำสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้กับอดีตผู้บริหารโดยที่บริษัทไม่ได้มีส่วนรับรู้ด้วย เมื่อบริษัทได้รับทราบเรื่องแล้วได้บอกกล่าวผู้รับผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง และนำข้อเท็จจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วยการฟ้องร้องอดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารไปที่ศาลแรงงานเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้รับรู้รับทราบการทำสัญญาดังกล่าวที่อดีตกรรมการอาจจะกระทำโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้คดีอยู่กระบวนการพิจารณาของศาลแรงงาน
โดยกรอบความเสียหายของคดีและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งค่าทนายและการชดใช้ความเสียหายนั้น บริษัทได้ชี้แจงต่อศาลชัดเจนแล้วว่าการทำสัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้อง และบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้
แหล่งข่าวจาก WEH เปิดเผยว่า การทำสัญญารับผิดแทนอดีตกรรมการและอดีตผู้บริหาร WEH สืบเนื่องจากคดีที่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ถือหุ้น WEH ฟ้องดำเนินคดีนายณพ ณรงค์เดช รวมทั้ง นางเอ็มมา คอลลินส์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WEH และอดีตผู้บริหารอีก 2 คน ต่อศาลอังกฤษ ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและโอนหุ้น WEH โดยไม่ถูกต้อง ประเมินความเสียหายจากมูลค่าหุ้น WEH ทั้งปัจจุบัน และในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะอ้างอิงจากที่บริษัทให้ที่ปรึกษาทางการเงินประเมินไว้ราว 8.4 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการนัดสืบพยานในเดือน ต.ค.65 เนื่องจากฝ่ายโจทก์มีเอกสารประกอบคดีนับล้านชิ้นที่จะต้องรวบรวมส่งศาล
ขณะที่มีรายงานข่าวว่าบริษัทได้ฟ้องคดีแพ่งอดีตผู้บริหารทั้ง 4 รายเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีที่นำเงินของบริษัทไปจ่ายค่าทนายสู้คดีในอังกฤษแล้วกว่า 300 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นบางกลุ่มเตรียมฟ้องคดีอาญาด้วย
นอกจากนี้ ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น WEH วันนี้ ได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ 3 คน ได้แก่ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย, นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล และนายณรงค์ เจนณรงค์ศักดิ์ แทนนายวิชัย ทองแตง นายสุรงค์ บูลกุล และนายธันว์ เหรียญสุวรรณที่หมดวาระ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 64)
Tags: WEH, ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ, บุษกร กอดำรงค์, วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง, หุ้นกู้, หุ้นไทย