รัฐบาลเร่งควบคุมโควิด พร้อมเดินหน้ามาตรการกระตุ้นศก.เพื่อสร้างความสมดุล

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ด้วยการฉีดวัคซีนแบบปูพรมให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสูงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการลงทะเบียนตามช่องทางต่างๆ พร้อมเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสมดุล โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการต่างๆ ดังนี้

1. แผนการกระจายวัคซีนทั่วประเทศ ประชาชนทุกจังหวัดจะได้รับฉีดวัคซีนโดยปรับให้สอดคล้องกับปริมาณวัคซีนที่เข้ามาและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการเตรียมแผนรองรับในการดูแลรักษาประชาชน ห้เพียงพอ ทั้งแพทย์ พยาบาลบุคลากรสาธารณสุข โรงพยาบาลสนาม เตียง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ด้วย ซึ่งมีแผนการฉีดวัคซีนแบบปูพรม เพื่อให้คนไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทยจำนวนอย่างน้อย 50 ล้านคน ได้รับวัคซีนภายในปี 2564

ซึ่งในต่างจังหวัดจะมีจุดฉีดวัคซีนทั้งในสถานพยาบาล รพ.สนาม และศูนย์บริการต่างๆรวม 1,475 แห่ง ส่วนกรุงเทพมหานคร มีจุดฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล สถานพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ 126 แห่ง และจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 จุดที่กระจายทั่วพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรับบริการฉีดวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด

สำหรับปัจจุบัน ยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 25 พ.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 3,024,313 โดสแล้ว

ทั้งนี้ หากคิดเป็นจำนวนโดสที่เข้ามาในประเทศไทยและได้รับการจัดสรรแล้ว บุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจำนวน 1,802,597 โดส คิดเป็น 57.28% ของจำนวนโดสทั้งหมดที่ฉีดแล้ว ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 1,080,295 โดส คิดเป็น 34.33% ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 264,335 โดส คิดเป็น 8.40% ซึ่งจนถึงวันนี้พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว จำนวน 18 ราย

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันยอดสะสมการฉีดวัคซีน จนถึงวันที่ 25 พ.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 644,858 โดสแล้ว หากคิดเป็นจำนวนโดสที่ได้รับการจัดสรรแลฉีดให้ประชาชนแล้ว บุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจำนวน 348,618 โดส คิดเป็น 54.06% ของจำนวนโดสทั้งหมดที่ฉีดแล้วในกทม. ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 242,030 โดส คิดเป็น 37.53% ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปและบุคคลที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 54,210 โดส คิดเป็น 8.41%

2. มาตรการดูแลแคมป์คนงาน ราชทัณฑ์ และชุมชนแออัด โดยเร่งตรวจเชิงรุก คัดกรอง ฉีดวัคซีนปูพรมกลุ่มแคมป์คนงานก่อสร้าง หากผู้ติดเชื้อมีอาการระดับสีเขียวจะนำส่งรักษาที่โรงพยาบาลสนาม จ.สมุทรสาคร กลุ่มสีเหลืองมีศูนย์แรกรับ-ส่งต่อนิมิบุตร และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรณีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้การดูแลผู้ติดเชื้อทั้งในระดับ สีเขียวและสีเหลือง รวมทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเต็มรูปแบบ พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องเอกซเรย์ที่จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีเขียว ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันจะดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างดีที่สุด บนหลักความเท่าเทียม

3. ด้านการยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ ด้วยมาตรการป้องกันและสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งทหาร ตำรวจ และกองกำลังต่างๆใ ห้เพิ่มความเข้มงวด และเพิ่มมาตรการป้องกันชายแดนอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะที่ลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ รวมถึงการเพิ่มมาตรการในการปฏิบัติ เช่น เพิ่มจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ที่เป็นช่องทางธรรมชาติ

ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้เพิ่มมาตรการการตรวจสอบพื้นที่อีกชั้นหนึ่ง โดยจะต้องมีการสกัดกั้น ตั้งจุดสกัดต่างๆ ให้มีความพร้อมในการตรวจสกัดการลักลอบที่จะเข้ามาในประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ มีการตั้งจุดตรวจและจุดสกัด จำนวน 76 จุด และ จุดตรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,323 จุด รวมทั้งเฝ้าระวังอย่างเข็มงวดตามจุดผ่านด่านทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากประชาชน แจ้งข้อมูลและเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายสำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และศูนย์บริการประชาชน 1111 โดยมียอดจำนวนสะสมสะสมตั้งแต่ 7 ม.ค. – 25 พ.ค. เกี่ยวกับบ่อนการพนัน 582 เรื่อง แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย 48 เรื่อง การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 340 เรื่อง การร้องเรียน ร้องทุกข์ ขอความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูล และเสนอความเห็น 211,964 เรื่องโดยเรื่องทั้งหมดนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับไปดำเนินการแล้ว)

4. มติคณะรัฐมนตรีล่าสุด ยังได้อนุมัติหลักการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่บริจาคเป็นสาธารณกุศล โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคโควิด-19 ได้แก่ ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ต้านโควิด-19 ที่บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ และองค์การหรือสถานสาธารณกุศล สำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการร่วมมือแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม

นายอนุชา ยังกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จัดทำงบประมาณโดยกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 ว่า รัฐบาลได้มีการตั้งวงเงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทเฉพาะกิจ อาทิ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ซึ่งจะช่วยเยียวยา ฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เช่นกัน

รวมถึง พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

“จึงขอมั่นใจได้ว่า ในปี 2564 และ 2565 รัฐบาลมีวงเงินเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเหมาะสม”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 64)

Tags: , , ,