ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผ่อนเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่อง (มาตรการ LTV) โดยปรับเพดาน LTV เป็น 100% ชั่วคราวจนถึงสิ้นปี 2565 จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการซื้อที่อยู่อาศัย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของตลาดที่อยู่อาศัยและการปล่อยสินเชื่อบ้านของสถาบันการเงินในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปี 2565 ที่ยังเต็มไปด้วยหลายปัจจัยท้าทาย
หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สถานการณ์โควิดทุเลาลง ภาวะเงินเฟ้อในประเทศไม่รุนแรง การผ่อนปรนเกณฑ์มาตรการ LTV ในครั้งนี้ จะช่วยหนุนให้ตลาดที่อยู่อาศัยทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2565
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตลอดช่วงเวลาของมาตรการฯ จะเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้คิดเป็นมูลค่าราว 18,000 – 30,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการฯ
ขณะเดียวกัน ผลของการผ่อนคลายมาตรการ LTV คงจะเปิดโอกาสให้สินเชื่อบ้านเติบโตในกรอบที่สูงขึ้นในปี 2565 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเบื้องต้นว่า การผ่อนปรนมาตรการ LTV จะทำให้สินเชื่อบ้านปี 2565 มีโอกาสเติบโตเพิ่มเติมได้ประมาณ 0.3-0.7% ไปอยู่กรอบ 4.8-5.2% สูงขึ้นกว่ากรอบคาดการณ์ปี 2564 ที่ 4.2-4.5%
ประเด็นติดตามจะอยู่ที่การประเมินความพร้อมในการก่อหนี้ก้อนใหม่หรือรีไฟแนนซ์หนี้เดิม ซึ่งครอบคลุมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่อาจเผชิญปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด รวมถึงสถานการณ์รายได้และการจ้างงานที่อาจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติอย่างเต็มที่ อันจะมีผลต่อเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อสำหรับลูกหนี้แต่ละรายในท้ายที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ต.ค. 64)
Tags: LTV, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, อสังหาริมทรัพย์