นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการปฎิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ โดยผลการประเมินตนเองของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ (ข้อมูลจากระบบ Thai Stop Covid (TSC) วันที่ 18 ต.ค. 64)
พบว่า มีการลงทะเบียน Thai Stop Covid Plus (TSC+) จำนวน 354 แห่ง สามารถดำเนินตามมาตรการผ่านทุกข้อ 343 แห่ง คิดเป็น 96.9% ไม่ผ่านบางข้อ 11 แห่ง คิดเป็น 3.1% นอกจากนี้ มีการลงทะเบียน Thai Stop Covid 2 Plus (TSC2+) จำนวน 51 แห่ง สามารถดำเนินตามมาตรการผ่านทุกข้อ 49 แห่ง คิดเป็น 95% ไม่ผ่านบางข้อ 2 แห่ง คิดเป็น 5%
ทั้งนี้ มาตรการที่สามารถปฏิบัติได้ดี คือ
- มีสัญลักษณ์เว้นระยะห่าง ชำระเงินออนไลน์ ฉากกั้นแคชเชียร์
- ทำความสะอาดพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมห้องน้ำทุก 1-2 ชั่วโมง
- ดูแลการระบายอากาศ ทำความสะอาดระบบปรับอากาศ มีมาตรการเสริมอื่นๆ และ
- มีมาตรการกำกับดูแลพนักงานให้ปฏิบัติตามมาตรการฯ
ส่วนมาตรการที่ปฏิบัติได้น้อย คือ
- จำกัดเวลาใช้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง
- กิจการเสี่ยง จัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้พนักงานตรวจทุก 7 วัน
- คัดกรองความเสี่ยงพนักงาน และผู้มาติดต่อทุกวันด้วย Thai Save Thai (TST) หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ
- ประชาสัมพันธ์ให้กิจการเสี่ยง จัดระบบการตรวจสอบลูกค้าก่อนเข้ารับบริการ และ
- ศูนย์อาหาร (Food court) จัดภาชนะ และเครื่องปรุงเป็นชุดสำหรับลูกค้าแต่ละคน
ด้านพนักงาน ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบโดส และมีการสุ่มตรวจ ATK พนักงาน 5% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด สำหรับประชาชนมีบางส่วนไม่ลงทะเบียนเข้า-ออก ไม่วางแผนการใช้บริการ ส่งผลให้มีการใช้บริการเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ ยังพบการรวมตัวในร้านอาหาร ไม่เว้นระยะห่าง และไม่แสดงผลการรับวัคซีน ผลการตรวจ ATK หรือ RT-PCR
นอกจากนี้ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และสำนักงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกทม. ได้สุ่มประเมินห้างสรรพสินค้าจำนวน 15 แห่ง (วันที่ 28 ก.ย.-18 ต.ค. 64) พบว่าผ่านการประเมินทุกข้อ 3 แห่ง คิดเป็น 20% ส่วนที่เหลืออีก 12 แห่ง ไม่ผ่านบางข้อ คิดเป็น 80%
สำหรับมาตรการที่สามารถปฏิบัติได้ดี คือ มีการคัดกรอง และวัดอุณหภูมิผู้เข้าสถานที่, มีจุดลงทะเบียนก่อนเข้า และก่อนออกจากสถานที่, มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์, มีสัญลักษณ์เว้นระยะห่าง มีฉากกั้น ชำระเงินออนไลน์ และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสสม่ำเสมอ
ส่วนมาตรการที่มีข้อจำกัดในการดำเนินการ คือ มีการจำกัดจำนวน และห้ามการรวมตัว การเว้นระยะห่าง ซึ่งมีมาตรการ แต่ไม่สามารถควบคุม และเข้มงวดได้, ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร ไม่จัดให้มีระยะห่างระหว่างที่นั่ง และไม่จัดเตรียมเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ประจำโต๊ะอาหาร, ไม่มีการระบายอากาศในห้องน้ำ, กิจการเสี่ยงไม่ใด้จัด ATK ให้พนักงานทุกคน และไม่สามารถตรวจได้ทุก 7 วัน, ไม่มีการขอหลักฐานการคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าสถานที่ด้วย TST หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ และกิจการเสี่ยง (นวด ฟิดเนส ร้านอาหาร) ในห้าง ไม่เข้มงวดเรื่องการตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือผลการตรวจ ATK ของลูกค้า
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ใช้บริการห้างสรรพสินค้า ของอนามัยโพล (Anamai Poll) ระหว่างวันที่ 1-15 ต.ค. 64 จำนวน 2,069 คน จากการสอบถามถึงมาตรการป้องกันโรคในห้างสรรพสินค้า เป็นไปในทิศทางเดียวกับการสุ่มตรวจของกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และสำนักงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจังหวัด นอกจากนี้ พบว่า 88% เห็นทุกคนสวมหน้ากากแบบถูกต้อง ส่วนอีก 12% เห็นคนสวมหน้ากากไม่ถูกต้อง หรือไม่สวมหน้ากาก
อย่างไรก็ดี ห้างสรรพสินค้ามีข้อปฎิบัติที่ต้องปรับปรุง เพื่อรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ คือ ด้านสถานประกอบการ เจ้าของกิจการ หรือผู้รับผิดชอบ ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งการควบคุมความแออัด มาตรการห้ามการรวมตัว, กำกับให้กิจการเสี่ยง ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting แสดงหลักฐานคัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าด้วย TST หรือแอปพลิเคชั่นอื่นๆ, ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เช่น ระยะห่างระหว่างที่นั่ง เตรียมเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ประจำโต๊ะ และกิจการเสี่ยง เข้มงวดตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจ ATK ของลูกค้า
ด้านหน่วยงานควบคุมกำกับโรคติดต่อจังหวัดกทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องกำกับการปฏิบัติการตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเข้มงวด และให้คำแนะนำสถานประกอบการ รวมทั้งต้องมีการสื่อสาร เน้นย้ำสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการ และให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันสูงสุด (Universal Prevention-UP) และ DMHTA อย่างเคร่งครัด
“การอนุญาตให้เปิดห้าง ยังพบการหย่อยยาน และฝ่าฝืนมาตรการในหลายจุด แต่ภาพรวมในการดำเนินการได้รับความร่วมมือมากขึ้น ดังนั้นหากประชาชนช่วยกันปฎิบัติตาม 4 มาตรการ ตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนพ.ย. 64 ได้แก่ ฉีดวัคซีน, ปฎิบัติตาม UP, สถานประกอบการปฎิบัติตาม Covid Free Setting และตรวจ ATK จะทำให้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ อาจมีการเปิดพื้นที่ หรือกิจการต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการพิจารณาเปิดประเทศ ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ด้วย”
นพ.สุวรรณชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 64)
Tags: ATK, COVID-19, มาตรการควบคุมโรค, สธ., สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย, เปิดประเทศ, โควิด-19