น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยผลสรุปการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 8-14 ต.ค. 64 พบว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่แจ้งเข้ามา 11,567,491 ข้อความ และจากการคัดกรอง มีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 196 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 105 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งหมด 48 เรื่อง
ทั้งนี้ จากการประสานงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข่าวที่ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้วจำนวน 56 เรื่อง พบว่ามีสัดส่วนที่เป็นข่าวจริง 30 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่กันในวงกว้างบนออนไลน์ และโซเชียล มีสัดส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงแทนที่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนเพิ่มขึ้น
“สะท้อนบทบาทของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในการเผยแพร่ความรู้ และการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในเรื่องการตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ต่อ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้เผยแพร่เฟคนิวส์ ที่สร้างผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และประชาชน”
น.ส.นพวรรณ ระบุ
สำหรับข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก ในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ คือ
- อันดับ 1 ข่าวปลอมเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เป็นยาพิษ หากฉีดจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ได้รับความสนใจจากประชาชนมากสุด
- อันดับ 2 ข่าวปลอมเรื่องเด็กอายุ 11 ปี ถูก ชุดเคลื่อนที่เร็วควบคุมฝูงชน (คฝ.) ควบคุมตัวที่ชุมชนดินแดง และ
- อันดับ 3 ข่าวปลอมเรื่อง คฝ. ที่ถูกยิงเข้าศรีษะบริเวณแฟลตดินแดง เป็นการยิงพลาดของตำรวจที่ตั้งใจจะยิงประชาชน ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 64)
Tags: FakeNews, ข่าวปลอม, ดีอีเอส, นพวรรณ หัวใจมั่น, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม