นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงโอกาสของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต่อการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้ ว่า มองการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.1 แสนล้านบาทของภาครัฐ จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และยังก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอชน โดยเฉพาะธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือร้านค้าปลีก
ขณะที่โอกาสของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อการพัฒนารถไฟฟ้าฯ ดังกล่าว มองว่าการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในพื้นที่เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีแนวโน้มสูงขึ้น 25% จากปีละ 7,700 ยูนิต ในช่วงปี 2561-2563 มาอยู่ที่ 9,600 ยูนิต เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยการพัฒนาคอนโดมิเนียมในทำเลบางซื่อ และคลองสาน รวมถึงทาวน์เฮ้าส์ในทำเลประชาอุทิศ-พุทธบูชา ที่ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต และ 3-5 ล้านบาทต่อยูนิต มีโอกาสที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะนอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่มากที่สุดแล้ว ราคาที่ดิน ณ ปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาโครงการ โดยที่ยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 30-40% ได้ตามปกติ
นอกจากนี้ยังคาดว่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อในพื้นที่ก็มีโอกาสเพิ่มจำนวนสาขาขึ้นอีก 2-3 เท่า จากปัจจุบันที่ 4-5 สาขาต่อประชากร 10,000 คน เพื่อรองรับการอยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
“ในอดีตการก่อสร้างรถไฟฟ้าในอดีตทั้งสายสีเขียวตอนเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่ภาครัฐใช้เม็ดเงินลงทุนเองกว่า 115,000 ล้านบาท ได้ส่งผลให้ภาคเอกชนลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 81,500 ล้านบาท คิดเป็น Multiplier Effects อย่างน้อย 0.7 เท่า ส่วนในอนาคตเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยในเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่ผ่านมา”
นายพชรจน์ กล่าว
ด้านนายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การลงทุนในโครงการดังกล่าวของภาครัฐ คาดจะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ได้ราว 0.1-0.2%
สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3/64 มองว่าในช่วงต้นไตรมาสได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์แคมป์คนงานก่อสร้าง แต่ก็กลับมาดำเนินการได้ตามปกติแล้วตั้งแต่กลางไตรมาส 3/64 และคาดว่าจะส่งผลดีต่อยอดโอนที่เริ่มกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4/64 ขณะที่ในปี 65 คาดว่าจากการเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามา การขยายเพดานสัดส่วนกรรมสิทธิ์ซื้อห้องชุด เป็น 70-80% จากปัจจุบัน 49% รวมถึงการผ่อนปรนให้ต่างชาติซื้อบ้านและที่ดิน ในระดับราคา 10-15 ล้านบาทขึ้นไป จะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ จึงประเมินว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 65 ยังเติบโตกว่าปี 64
โดย Krungthai COMPASS ได้ประเมินการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ แบ่งเป็น บ้านจัดสรร ในกรุงเทพและปริมณฑล ในปี 64 คาดยอดโอนกรรมสิทธิ์ เติบโต 4.8% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3.7 แสนล้านบาท เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการทำงานจากที่บ้าน (WFH) ส่วนในปี 65 คาดโตต่อเนื่อง ราว 5.1% หรือคิดเป็น 3.89 แสนล้านบาท
ด้านอาคารชุด ในกรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้จะติดลบ 4.4% หรือคิดเป็น 2.49 แสนล้านบาท ส่วนในปี 65 คาดฟื้นตัวขึ้นได้ 3.2% คิดเป็นมูลค่าราว 2.57 แสนล้านบาท หลังได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อต่างชาติที่เข้ามาสนับสนุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 64)
Tags: กณิศ อ่ำสกุล, ธนาคารกรุงไทย, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, พชรพจน์ นันทรามาศ, รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟฟ้าสายสีม่วงตอนใต้, ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS, อสังหาริมทรัพย์