นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (11 ต.ค.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 53,223 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 29,293 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 22,8632 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,083 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 6,387 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 11,788 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 15.2 ล้านไร่ คิดเป็น 90.31% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 6.99 ล้านไร่ คิดเป็น 87.70% ของแผนฯ
ทั้งนี้ จากการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ ทำให้ปัจจุบันสามารถใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำได้เต็มพื้นที่แล้ว ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันได้มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 1,100 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (11 ต.ค.) ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,371 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 359 ลบ.ม./วิ พร้อมปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,520 ลบ.ม./วิ ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรับลดการระบายน้ำเหลือ 451 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนบริเวณ อ.พัฒนานิคม ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ภาพรวมสถานการณ์น้ำดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ระดับตลิ่งประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน
ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ที่ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบกับอิทธิพลจากพายุโกนเซิน และพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำชี ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้น ไหลเข้าท่วมพื้นที่ริมตลิ่งในหลายจังหวัด กรมชลประทาน ได้ทำการตัดยอดน้ำเข้าไปเก็บกักในพื้นที่แก้มลิงติดกับแม่น้ำชี พร้อมจัดจราจรทางน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล เพื่อเร่งการระบายน้ำในลำน้ำชี-มูล ลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับต่ำกว่าแม่น้ำมูลประมาณ 3.6 เมตร จึงทำให้การระบายทำได้ดี ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ตลิ่งประมาณสิ้นเดือนตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 11 ต.ค.64 พายุดีเปรสชัน “ไลออนร็อก” ปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบน คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงยังคงต้องเฝ้าระวังทิศทางของพายุและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่เริ่มคลี่คลายแล้ว ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เร่งสำรวจความเสียหายของอาคารชลประทาน เพื่อปรับปรุงให้มีสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน จึงขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำหลากควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของรัฐบาล ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 64)
Tags: กรมชลประทาน, กรมอุตุนิยมวิทยา, ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล, น้ำท่วม, สถานการณ์น้ำ, อ่างเก็บน้ำ, อุทกภัย