พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยพร้อมทั้งกำชับการดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุ
จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 8 ตุลาคม 2564 พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 90 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10 – 11 ตุลาคม 2564 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังแรงขึ้น จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด ตลอดจนข้อสั่งการในที่ประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยเคร่งครัดและดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
1) ให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของจังหวัด ติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัย น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มจากกรณีฝนตกหนักหรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ เช่น พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจของจังหวัด พื้นที่ท้ายเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายที่มีปริมาณน้ำมาก และพื้นที่เชิงเขา พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลแผนที่เส้นทางน้ำที่อาจส่งผลกระทบพื้นที่ชุมชนเขตเศรษฐกิจให้ครอบคลุม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการในแต่ละระดับให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนตลอดจนบูรณาการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าป้องกันน้ำท่วมและเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ
2) กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ปรับแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ให้แบ่งมอบพื้นที่ ภารกิจ หน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ชัดเจน พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติและช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง หากกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือยนตร์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฎิบัติการบรรเทาอุทกภัย ฯลฯ ไม่เพียงพอ ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหารและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้พร้อมตลอด 24 ชั่วโมง
3) เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการดำรงชีพ ด้านสาธารณสุข ด้านการคมนาคม ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง พร้อมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยที่อยู่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
4) หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ การปฎิบัติการให้ดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
5) สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้มอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล เช่น บริเวณน้ำตก ถ้ำ กำหนดมาตรการในการแจ้งเตือน การปิดกั้น หรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่ติดทะเล ชายหาดต่างๆ ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบังและห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีเรือขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่นอกชายฝั่งอาจจะเป็นอันตราย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดจนกำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล ให้สื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังและห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ให้ทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สรุปสถานการณ์และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยผ่านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ต.ค. 64)
Tags: กระทรวงมหาดไทย, พายุโซนร้อน, อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ไลออนร็อก