นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังติดตามคณะนายกรัฐมตรี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝนปี 2564 จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า นครศรีธรรมราช อยู่ในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีแม่น้ำที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำปากพนัง คลองชะอวด คลองท่าดี และคลองปากนคร แต่ละปีมักประสบปัญหาเสี่ยงภัยน้ำท่วม และขาดแคลนน้ำใน 5 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอเมือง น้ำท่วมเกือบทุกปี เนื่องจากมีน้ำหลากไหลผ่านคลองท่าดีซึ่งมีความจุน้อย, ลุ่มน้ำปากพนัง น้ำท่วมขัง จากปริมาณน้ำแม่น้ำปากพนังล้นตลิ่ง และอิทธิพลจากน้ำทะเล, พรุควนเคร็ง ป่าเสื่อมโทรมและไฟไหม้ป่าเป็นประจำ จากการบุกรุกพื้นที่, อำเภอทุ่งสง น้ำหลากไหลเร็วและแรง เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำต้นน้ำ, ลุ่มน้ำคลองกลาย มีน้ำไหลหลากรุนแรง ตลิ่งพังทลาย รวมทั้งเกิดปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางป้องกันแก้ไขแต่ละพื้นที่ โดยตัวเมืองนครศรีธรรมราช ทำทางผันน้ำเลี่ยงเมือง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และพัฒนาโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนลุ่มน้ำปากพนัง ต้องพัฒนาพื้นที่ชะลอน้ำ และรักษาพื้นที่ที่มีอยู่เดิม เช่น ป่าพรุ เป็นต้น พรุควนเคร็ง ทำคันดินในพื้นที่เพื่อควบคุมระดับน้ำ และจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาในภาพรวม อำเภอทุ่งสง พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำต้นน้ำ และก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในลำน้ำสาขา ลุ่มน้ำคลองกลาย พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขา เช่น คลองกลาย คลองเปียน คลองพิตำ เป็นต้น
โดย สทนช.ได้พิจารณาแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปี 2561-2563 พบว่า มีโครงการวม 1,223 แห่ง ดำเนินการโดย 12 หน่วยงาน ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 16.68 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 232,585 ไร่ ได้รับประโยชน์ 150,753 ครัวเรือน และพื้นที่ได้รับการป้องกันเกือบ 1 แสนไร่ เช่น ระบบระบายน้ำลุ่มน้ำปากพนังบน โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูพรุจูด อ.ทุ่งสง แก้มลิงบ้านทุ่งทับใน อ.หัวไทร งานจัดระบบน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังบน (ไม้เสียบ) และขุดลอกคลองส่งน้ำ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สนับสนุนงบกลางปี 63 รวม 418 แห่ง ได้แก่ การก่อสร้างปรับปรุงฝาย ก่อสร้างปรับปรุงระบบประปา ธนาคารน้ำใต้ดิน ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ กำจัดวัชพืช ขุดเจาะบ่อบาดาล ขุดลอกและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 45 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 2 แสนไร่ ขณะที่งบบูรณาการน้ำ ปี 64 มี 88 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 11,677 ไร่ รับประโยชน์ 34,901 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 1,720 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 0.89 ล้าน ลบ.ม. ป้องกันตลิ่ง 1.77 กม. เช่น ทำนบดินฯ อ่างเก็บน้ำคลองสังข์ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองชะอวด พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรฯ ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น
ส่วนในปี 65-66 จังหวัดนครศรีธรรมราช มีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญรวม 13 โครงการ อาทิ ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนทุ่งสงระยะที่ 2 อ่างเก็บน้ำท่าประดู่ อ่างเก็บน้ำคลองแดง เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บอ่างเก็บน้ำ ห้วยน้ำใส เป็นต้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มความจุได้ 165 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 55,132 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 5,400 ไร่ และ 35,850 ครัวเรือน
ขณะที่ความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ดำเนินการปี 2561-2566 มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในตัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาหลวง ผ่านคลองท่าดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่เกิดความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการจัดหาที่ดินบางส่วน โดยมีผลการดำเนินงาน 14.74% จากแผน 43.99% เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชได้ถึง 90% ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล และได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์สองฝั่งคลอง 17,400 ไร่ รวมทั้งกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้ถึง 5.5 ล้าน ลบ.ม.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 64)
Tags: นครศรีธรรมราช, น้ำท่วม, น้ำแล้ง, สทนช., สุรสีห์ กิตติมณฑล, อุทกภัย